กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ร่วมกับ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า จากสถานการณ์น้ำในปีนี้ถือว่าค่อนข้างรุนแรงและค่อนข้างจะยาวนาน เนื่องจากปริมาณฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการคาดการณ์ถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแผนการบริหารน้ำของกรมชลประทาน ประกอบด้วย สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝน ปี 2558 จำนวน 3,600 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ 1,400 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 400 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จะสามารถจัดสรรน้ำเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชไร่-พืชผัก ในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้ 820,000 ไร่
ขณะที่ปริมาณน้ำรวมใน 2 เขื่อนหลักของลุ่มแม่กลอง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณน้ำใช้การได้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จำนวน 4,905 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้มีแผนการจัดสรรน้ำแบ่งเป็น สำรองน้ำสำหรับช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 จำนวน 3,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,200 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพื่อการเกษตร 405 ล้าน ลบ.ม. ในฤดูแล้งสำหรับพืชไร่-พืชผักได้ประมาณ 5 แสนไร่
ดังนั้น ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวงในครั้งนี้ ก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน การเตรียมการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้วในทั้งเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรเป็นรายพื้นที่ โดยเฉพาะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง งดปลูกข้าวนาปรัง ๒๗ จังหวัด รวมถึงให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง งดเลี้ยงปลาในลุ่มน้ำปิงและน่าน ๓ จังหวัด ซึ่งในลุ่มเจ้าพระยาเกษตรกรจะเริ่มทำนาปรังตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลองจะเริ่มทำนาปรังในวันที่ 1 มกราคม 2558
ขณะเดียวกัน ยังจะมีการหารือในระดับคณะทำงานของแต่ละกระทรวง ถึงมาตรการรองรับเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องงดทำการเกษตรในช่วงดังกล่าว อาทิ การจ้างงานในการซ่อมแซมคูคลอง และระบบส่งน้ำของกรมชลประทานที่มีการใช้งานติดต่อมาเป็นระยะเวลานาน การฝึกสอนอาชีพ เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้าก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบประกาศงดการปลูกข้าวนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในวันอังคารที่ 14 ตุลาคมนี้.