กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ตีฆ้องร้องป่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมระบุว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 64 ล้านตัน ตัวเลขนี้ไม่เคยนิ่งเพราะทุกวันมีขยะเพิ่มขึ้น 4 – 5 หมื่นตัน แบ่งเป็นขยะจากพลาสติกถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบวันละ 1 หมื่นตัน
การกำจัดขยะเหล่านี้ทำได้ด้วยวิธีการเดิมๆ คือ การเผาหรือการฝังกลบ ซึ่งทิ้งผลเสียไว้มากมาย เพราะหากฝังกลับจะต้องใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย นอกจากนี้แล้วยังทิ้งสารพิษไว้ใต้ดินอีกด้วย หรือวิธีการเผาจะต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการสกัดสารพิษที่จะลอยไปในอากาศ วิธีการเหล่านี้ล้วนแต่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับสังคมและชุมชมรอบข้างเป็นอย่างมาก
เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก จึงมีแนวคิดในการกำจัดขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้ผลพลอยได้จากการกำจัดขยะเหล่านั้นไปด้วย จนได้คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายยุทธการ มากพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากปัญหาปริมาณขยะล้นเมืองและการกำจัดที่ไม่ถูกวิธีหรือไม่ดีพอ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเผาซึ่งทำให้เกิดสารไดอ๊อกซิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ลองลอยไปในอากาศจนเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย จึงคิดว่าจะทำอย่างไรแก้ปัญหานี้ได้โดยที่ไม่สร้างผลกระทบกับชุมชน จาการศึกษาวิธีการจัดการขยะของต่างประเทศก็พบรูปแบบการจัดการหลากหลายวิธี แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกของประเทศญี่ปุ่น หรือการอบขยะด้วยกระบวนการไพโรไลซีส (Pyrolysis) เอาสารพิษต่างๆ มารวมกันแล้วใช้ความร้อนอบด้วยออกซิเจนกลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เครื่องกลั่นน้ำมันดังกล่าวมีราคาสูงมาก ดังนั้นจึงได้แนวคิดที่ได้มาประดิษฐ์เครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกขึ้นเองในราคาเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของขยะแล้ว ยังเกิดมูลค่าเพิ่ม ได้นำมันเพื่อใช้อีกด้วย
สำหรับเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกที่ได้ประดิษฐ์ประกอบด้วย ได้จะใช้วิธีการแบบ ไพโรไลซีส คือ กระบวนการหลอมเหลวพลาสติกพร้อมกับคะตะลิสต์ในห้องโลหะด้วยการใช้ความร้อนอย่างต่อเนื่องในระบบจำกัดอากาศ จนกระทั่งอุณหภูมิ 300-350 องศาเซลเซียส พลาสติกที่ถูกหลอมเกิดการแตกตัวเป็นแก๊ส หรือไอออกมา แล้วถูกส่งไปยังหอกลั่นเพื่อให้ความเย็นแล้วควบแน่นกลายเป็นน้ำมันเหลวออกมา
กระบวนการกลั่นน้ำมันจะเริ่มจากน้ำขยะที่มีการคัดแยกไว้แล้วใส่ลงไปในห้องโลหะ จากนั้นจะใช้แก๊สแอลพีจีให้ความร้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่ออบขยะ เราก็จะปิดแก๊สโดยใช้แก๊สที่เกิดขึ้นเองภายในห้องโลหะเป็นตัวอบขยะต่อไป เมื่อความร้อนได้ที่และเกิดการแตกตัว ไอน้ำมันก็จะส่งผ่านต่อไปตามท่อไปยังหอกลั่นเพื่อคัดแยกเป็นน้ำมัน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน จากนั้นก็จะนำน้ำมันที่ได้ไปกรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับเครื่องยนต์ต่อไป
ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปริมาณขยะ 100 กิโลกรัม เมื่อนำมากลั่นจะได้น้ำมัน 70 ลิตร แยกตามชนิดลดหลั่นกันไปตามวัตถุดิบหรือขยะที่ใส่ลงไป ซึ่งหากเป็นขยะยางรถยนต์หรือยางมวลหนัก ก็จะได้น้ำมันเตากับน้ำมันดีเซลมากที่สุด แต่หากเป็นพลาสติกประเภทถุงปุ๋ยหรือพลาสติกมวลเบาก็จะได้เป็นน้ำมันเบนซินมากที่สุด และขยะที่ถูกอบจนกลายผงถ่านมีค่าความร้องสูงสามารถเอาไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ เมื่อคำนวณแล้วต้นทุนการผลิตแล้วพบว่าต้นทุนต่ำมาก เพียง 7 บาทต่อลิตร เมื่อนำน้ำมันที่ได้จากการกลั่นไปทดลองใช้กับเครื่องยนต์ทั่วไป พบว่ามีประสิทธิภาพดีไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด
“ในขั้นตอนต่อไปเราก็หาวิธีเพื่อลดต้นทุนของเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกให้มีขนาดเล็กลง และราคาถูกลง นอกจากนี้แล้วยังจะพัฒนาถึงเรื่องของวัตถุดิบ เช่น เศษกิ่งไม้ ใบไม้แทนขยะ หรือการใช้ฟืนหรือพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทนแก๊สในการให้ความร้อน ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายและเหมาะสมกับชุมชนขนาดเล็กที่จะนำไปใช้ต่อไป” นายยุทธการ กล่าว