แม็กซ์เท็กซ์สยายปีกรับAEC ปักธงลุยภูมิภาค เตรียมผุด “อุบลโมเดล”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 7, 2014 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ชัยพีอาร์ แม็กซ์เท็กซ์ ขอเอี่ยว AEC ประเดิมสาขาสิงคโปร์ หวังปูพื้นฐานเจาะตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วางเป้ากว่า 300 ล้านบาท พร้อมสยายปลีกทุกภูมิภาคในประเทศ ประเดิม “อุบลโมเดล” นายไตรภพ บุญเหมือน ประธานบริษัท แม็กซ์เท็กซ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวในงานสัมมนา หัวข้อทิศทางด้านการเกษตรในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดโดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานีว่า แม็กซ์เท็กซ์ ในฐานะผู้นำในด้านธุรกิจจำหน่ายและบริการหลังการขายเครื่องปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร (Optical Color Sorter) ภายใต้ชื่อ “แม็กซ์ซอร์ท” (MAX SORT) ได้เตรียมตัวเพื่อรองรับการเปิด AEC โดยแม็กซ์เท็กซ์ได้ก่อตั้ง แม็กซ์เท็กซ์ สิงคโปร์ ที่จะเข้าไปดูแลตลาดในประเทศมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย รวมทั้งสิงคโปร์ด้วย และภายในต้นปีหน้า แม็กซ์เท็กซ์มีแผนจัดตั้งบริษัทที่กัมพูชาและพม่า โดยคาดว่าปี 2558 นี้ จะสามารถทำรายได้กว่า 300 ล้านบาท และเป้าหมายที่สำคัญในอนาคต คือจะขยายไปทั่วเอเชีย และทั่วโลก “ประเทศในอาเซียน เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งแข่งขันกันผลิตเพื่อการส่งออกทั้งในอาเซียนและส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก แต่หลายประเทศยังไม่มีการพัฒนาด้านคุณภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตรเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นโอกาสของแม็กซ์เท็กซ์ที่จะเข้าไปแชร์ตลาดในประเทศเหล่านี้” นายไตรภพกล่าว นายไตรภพ กล่าวด้วยว่าในส่วนภายในประเทศ มีการผลิตผลทางการเกษตรออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าว GI (ข้าวที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย มีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์) หรือแม้แต่ข้าวหอมมะลิอุบล ที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่อาจกล่าวได้ว่าดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ แม็กซ์เท็กซ์จึงได้มีการวางรากฐานขยายการบริการทั่วประเทศทุกภูมิภาค เพื่อเป็นการรองรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า โดยปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ศูนย์บริการภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ และคาดว่าจะเปิดศูนย์บริการอื่นๆ อีกตามกำลังการผลิตของลูกค้าต่อไป “ทั้งนี้แม็กซ์เท็กซ์ไม่ได้มุ่งทำธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แม็กซ์เท็กซ์ได้มีโครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาวนา, วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรไทย โดยมีเป้าหมายการยกระดับจากเกษตรกรสู่นักธุรกิจการเกษตร โดยได้มีการเริ่มดำเนินการไปแล้วที่จังหวัดพิจิตรและลพบุรี และคาดว่าจะดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดต่อไปเป็นแบบอย่างหรือ ‘อุบลโมเดล’ ” นายไตรภพกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ