กลุ่มคนรักษ์สัตว์ลุยต่อ พบกรมอุทยานฯยื่นวาระการจัดระเบียบสวนสัตว์ แนะกรมอุทยานแก้ “ระเบียบจัดการสวนสัตว์”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 7, 2014 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--change.org กลุ่มคนรักษ์สัตว์ลุยต่อ พบกรมอุทยานฯยื่นวาระการจัดระเบียบสวนสัตว์ แนะกรมอุทยานแก้ “ระเบียบจัดการสวนสัตว์” ให้สวนสัตว์ต้องอยู่บนพื้นดินเท่านั้น ย้ำหลัง 30 มิ.ย.58 ประเทศไทยจะต้องไม่มีสวนสัตว์บนยอดตึกอีกต่อไป / เตรียมยื่นรายชื่อ 18,000 ชื่อ ปรับปรงสวนสัตว์นครปฐม 12 ต.ค. นางศิลจิรา อภัยทาน ผู้รณรงค์แคมเปญ “หาบ้านใหม่ให้บัวน้อยกอริลล่ายักษ์และผองเพื่อน” ผ่าน www.change.org/buanoi กล่าวว่า ทางกลุ่มคนรักสัตว์ยังเดินหน้าเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง โดยในวันพรุ่งนี้ วันพุธ ที่ 8 ต.ค. เวลา 14.00 น. ตนเองและกลุ่มคนรักสัตว์ และอาจารย์สุรพล ดวงแข นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ป่า จะเข้าพบ นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อพูดคุยเรื่องการจัดระเบียบสวนสัตว์และการตั้งคณะทำงานหาบ้านใหม่ให้บัวน้อยกอริลล่ายักษ์และเพื่อนๆ นางศิลจิรา กล่าวว่า เรื่องการจัดระเบียบสวนสัตว์นั้น ทางกลุ่มจะขอเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานฯ แก้ระเบียบการจัดการสวนสัตว์สาธารณะในหมวด 5 เรื่องการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการสวนสัตว์โดยยึดหลักการว่า สถานที่ที่สวนสัตว์ขอเปิดใหม่หรือต่ออายุจะต้องอยู่บนพื้นดินเท่านั้น ไม่อยู่บนตึกและชั้นใต้ดิน และจะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริง ซึ่งสามารถทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่งจะใช้เวลานานกว่า เพราะประเทศไทยไม่ควรมีสวนสัตว์ลอยฟ้าอีกต่อไปแล้ว “อยากให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯแก้ระเบียบดังกล่าวเพื่อปลดล็อกเรื่องนี้ ด้วยการประกาศยกเลิกการมีสวนสัตว์ลอยฟ้าบนยอดตึกเป็นการถาวร ทั้งสวนสัตว์ลอยฟ้าที่มีอยู่แล้วและที่จะขอเปิดเป็นรายต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นั่นหมายความว่า สวนสัตว์ลอยฟ้าพาต้าจะต้องปิดตำนานโดยไม่มีเงื่อนไขเพราะจะหมดสัญญาในช่วงนั้นพอดี” นางศิลจิรา กล่าว นางศิลจิรา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กรมอุทยานตั้งเงื่อนไขการต่อใบอนุญาตให้สวนสัตว์ลอยฟ้าเคลื่อนย้ายสัตว์ใหญ่ลงภาคพื้นดินภายใน180 วัน นั้น กรมอุทยานไม่ควรผลักภาระการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อยและเพื่อนๆให้กับกลุ่มคนรักสัตว์ซึ่งเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา แต่การตั้งตั้งคณะทำงานและการระดมทุนควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อแก้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตที่มีการออกใบอนุญาตจนทำให้สัตว์ต้องถูกขังอยู่บนยอดตึกแบบนั้น อีกทั้งไม่ควรมองเพียงแค่ระยะสั้นว่าจะไม่คุ้มการลงทุน เพราะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งแหล่งเรียนรู้นี้ก็จะอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไปและจะเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของกรมอุทยานฯ “ดิฉันและทีมงานได้เข้าพบ คุณคณิต เสริมสิริมงคล เจ้าของบัวน้อยยินดีให้ความร่วมมือกับทางกลุ่มคนรักสัตว์ในการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อย ซึ่งพาต้าได้ขอผ่อนผันกับทางราชการฯจากเวลา 180 วันเป็น 5 ปี ที่จะขอย้ายบัวน้อย เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นกรมอุทยานฯควรเป็นเจ้าภาพเสนอร่างเค้าโครงคณะทำงานรองรับการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อยเพื่อยื่นข้อเสนอนี้แก่พาต้าเพื่อหาทางออกให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าของบัวน้อย ซึ่งทางกลุ่มคนรักสัตว์พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่” ทั้งนี้การที่กรมอุทยานฯตั้งเงื่อนไขขอให้พาต้าเคลื่อนย้ายสัตว์ใหญ่ลงภาคพื้นเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงว่า กรมอุทยานฯเเห็นด้วยกับหลักการและข้อเรียกร้องทีว่าไม่ควรมีสวนสัตว์บนยอดตึกอีกต่อไป อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ทางกลุ่มจะยื่นข้อเสนอที่ขอให้พาต้าจัดสภาพความเป็นอยู่ของบัวน้อยให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจขณะรอการเคลื่อนย้ายต่อไป เตรียมยื่นรายชื่อ 18,000 ชื่อ ปรับปรงสวนสัตว์นครปฐมวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค. นี้ นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวเรื่องการรณรงค์ให้ ปรับปรุงสวนสัตว์เทศบาลนครปฐม ผ่าน http://www.change.org/NakhonPathomZoo ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงชื่อกว่า18,000 คน แล้ว โดยนาย เอนก สุวรรณบัณฑิต ตัวแทนกลุ่มรณรงค์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมลงชื่อ โดยในวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่สวนสัตว์นครปฐม ทางชมรมคนรักสวนสัตว์เทศบาลนครปฐมจะมีการยื่นรายชื่อและความเห็นของผู้สนับสนุนให้กับ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครปฐม พร้อมกับมีการกิจกรรม "เรื่องเล่าคนดูแลสัตว์" เพื่อที่จะได้ฟัง ได้คุย ได้ซักถาม ผู้ที่ดูแลสัตว์ เกี่ยวกับ การดูแล ปัญหาและการแก้ไข เพื่อที่จะได้เข้าใจในบริบทและร่วมกันคิดที่จะพัฒนาสิ่งอื่นๆ ให้ดีขึ้นต่อไป ดังนั้นจึงขอเชิญชวนที่สนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย “เราอยากเห็นสวนสัตว์นครปฐมกลับมามีคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง และไม่ถูกละทิ้งแบบที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเราได้ประสานงานกันเพื่อขออนุญาตเทศบาลให้สัตวแพทย์จิตอาสาไปร่วมช่วยดูแลสัตว์ป่วยอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ชมรมฯ ได้วางแผนพัฒนาสวนสัตว์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้แนวคิด "ความพร้อม ความดี ความตั้งใจ" นั่นคือ ประสานงานกับผู้รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และร่วมด้วยช่วยกันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์ในสวนสัตว์ และจะทำให้สวนสัตว์เป็นส่วนสำคัญของสังคมเมืองนครปฐม เป็นแหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ของครองครัว เยาวชน โดยให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายเอนก กล่าว
แท็ก สวนสัตว์   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ