กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
อย่าประมาท...โรคไข้หวัดใหญ่ที่มาพร้อมหน้าหนาว
โดย พญ.ปรารถนา ศรีสร้างทอง
อายุแพทย์ระบบทางเดินหายใจและปอด
โรงพยาบาลปิยะเวท
โดยปกติ โรคไข้หวัดใหญ่ มักเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่พบว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาวมักจะมีผู้ป่วยมากกว่าฤดูอื่น เพราะมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเริ่มเย็นลงจึงทำให้คนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เพียงพอก็อาจทำให้ป่วยไข้ได้ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพให้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีสุขภาพดีโอกาสการเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง
พญ.ปรารถนา ศรีสร้างทอง อายุแพทย์ระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ที่จำแนกออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ และบี โดยที่พบมากที่สุด คือ ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ (H1N1) (H3N2) รองลงมาได้แก่ ชนิด บี มีการแพร่เชื้อและติดต่ออยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย และแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ง่าย ด้วยการไอ การจามรดกันหรือการหายใจเอาฝอยละอองเข้าไปหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือสัมผัสหรือการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้ประมาณ 3-5 วัน นับจากเริ่มป่วย ในเด็กเล็กสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่โดยอาจพบได้ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีกในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง อาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 1-3 วันด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงร่วมด้วยและมีอาการที่รุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะเป็นการรักษาตามอาการ แต่ในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะมีการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) สำหรับผู้ที่มีอาการน่าสงสัยว่าตนเองอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ควรมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือถ้าหากมีอาการข้างต้นแล้วปล่อยทิ้งไว้แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา นอกจากนี้ควรนอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น ถ้ามีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์ พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ถ้าเราสามารถป้องกันให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสุรา บุหรี่ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ที่มีวิตตามินซีสูง ๆ เพราะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันของโรคได้ดี นอกจากนี้หากมีคนในบ้านหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ควรอยู่ให้ห่างไว้ หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้ ๆ ก็ต้องใช้หน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคและที่สำคัญไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่มีอาการป่วย และอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์แนะนำและเป็นวิธีที่นิยมเป็นกันแพร่หลายในปัจจุบัน คือการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ฉีดปีละครั้ง ฉีดได้ตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไว้แต่เนิ่น ๆ ก็จะดีมาก คุณหมอฝากทิ้งท้าย