กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ไฟเซอร์ ชี้แนวทางป้องกันต้านภัยร้าย ให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านการค้นคว้าวิจัยและผลิตชีวเวชภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคในกลุ่มนี้คร่าชีวิตคนกว่า 5.5 ล้านคนในแต่ละปี[i] ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาพบว่าคนไทยมีความชุกของโรคหลอดเลือดสมอง 690 คนต่อประชากร 100,000 คน[ii]
นอกจากจะมีอันตรายถึงชีวิตแล้ว ภาวะผิดปกติทางหัวใจและหลอดเลือดยังอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นผลให้เนื้อสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา
“โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพของทุกคน” นายแพทย์นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “โรคหลอดเลือดสมองถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้กว้างขวางที่สุดในกลุ่มนี้ และมีอันตรายร้ายแรง เนื่องจากสมองของผู้ป่วยอาจจะเสียหายจนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้”
อาการทางหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง สามารถเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น การขาดการออกกำลังกาย ความเครียดสูง การสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือแม้แต่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ คนไทยจำนวนมากจึงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโดยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในประเทศไทยที่ร้อยละ 2.41 ตามมาด้วยภาคใต้ (ร้อยละ 2.29) ภาคเหนือ (ร้อยละ 1.46) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 1.09) ตามลำดับiii
“โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่เกิดจากการตีบตันของเส้นเลือดในสมอง หรือเส้นเลือดแดงคาโรติด ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง” นายแพทย์นิรุตติ์ กล่าวเสริม “อาการที่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคนี้ ได้แก่ความผิดปกติด้านการมองเห็น อาการอ่อนแรงหรืออัมพาตในบางส่วนของร่างกาย พูดจาติดขัด รู้สึกวิงเวียนอย่างกะทันหัน หรืออาการชักกระตุก เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจึงควรเข้าพบแพทย์ทันทีที่พบสัญญาณอันตรายเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการร้ายแรงก็ตาม”
พล.ต. นพ. ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อให้ให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว
“ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่เป็นประจำ และภาวะอ้วน ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี พล.ต. นพ. ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ มีคำแนะนำดังต่อไปนี้”
- ควบคุมน้ำหนัก โดยรักษาดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) ให้อยู่ในช่วงระยะ 18-23 คุณสามารถคำนวณดัชนีมวลกายของตนเองได้โดยนำน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) มาหารด้วยค่ายกกำลังสองของส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) นอกจากนี้ การรักษารอบเอวให้มีขนาดไม่เกิน 36 นิ้วสำหรับผู้ชาย และ 32 นิ้วสำหรับผู้หญิง ก็ถือเป็นการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
- รับประทานอาหารให้ครบถ้วนและสมดุล โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้สดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก มีส่วนผสมที่ผ่านการหมักดอง หรือมีรสจัด นอกจากนี้ ยังควรเลือกทานอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง
- ควบคุมระดับความดันโลหิต และรักษาหรือแก้ไขทันทีหากมีอาการความดันสูง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยอาจออกกำลังครั้งละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และปรับไลฟ์สไตล์ให้คล่องแคล่ว มีชีวิตชีวามากขึ้น เพื่อรักษาตัวให้ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม
- นอนหลับให้เพียงพอ โดยเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมงต่อคืน
- ไม่สูบบุหรี่
- บริหารความเครียด โดยอาจเริ่มต้นด้วยเทคนิคง่ายๆ เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ โดยนับหนึ่งถึงสามขณะหายใจเข้า และนับหนึ่งถึงสี่ขณะหายใจออก เพื่อชะลออัตราการเต้นของหัวใจและลดความดันโลหิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากความเครียด
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
“ไฟเซอร์ หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนายาและเวชภัณฑ์ ได้มุ่งมั่นทำวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับองค์กรชั้นนำ และยังมุ่งมั่นสร้างเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพดี ด้วยความรู้ความเข้าใจและทรัพยากรทางการแพทย์ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในทุกช่วงอายุ เราจะยังคงนำนวัตกรรมเพื่อสุขภาพใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทยต่อไปในอนาคต เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง” นายแพทย์นิรุตติ์ ประดับญาติ กล่าวสรุป
[i] Atlas of Heart Disease and stroke, WHO, Sept. 2004.
[ii] Stroke epidemiological data of nine Asian countries. Asian Acute Stroke Advisory Panel (AASAP). J Med Assoc Thai 2000;83:1-7.
iii Hanchaiphiboolkul S, Poungvarin N, Nidhinandana S, et al. Prevalence of stroke and stroke risk factors in Thailand: Thai Epidemiologic Stroke (TES) Study. J Med Assoc Thai 2011;94:427-36.