กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ถึงอย่างไรการดูแลของภาครัฐยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติโดยตรง หรือ จากน้ำมือมนุษย์ อย่างเช่นข้อมูลที่กรมป่าไม้แถลงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยในวันป่าไม้โลกเมื่อต้นปีว่า หลังจากมีการสำรวจครั้งล่าสุดระหว่างปี 2551-2556 พบว่าในปี 2551 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั่วประเทศ 107 ล้านไร่ ไม่รวมสวนยางและสวนผลไม้ แต่ในปี 2556-2557 พื้นที่ป่าเหลือเพียง 102 ล้านไร่ นั่นหมายความว่าภายใน 5 ปี ป่าไม้หายไป 5 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่มีลักษณะการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต้องการพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นหลัก… นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อภาครัฐเพียงแค่หยิบมือเดียวไม่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ทั่วถึง แต่เมืองไทยก็ยังมี “เยาวชน” ตัวเล็กๆ ที่ไม่นิ่งดูดาย อาสาที่จะเข้ามาดูแลธรรมชาติที่บ้านตัวเอง เช่น โครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก”
โครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 เป็นโครงการที่มุ่งปลูกฝังและบ่มเพาะความเป็นพลเมืองอาสา และสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเนื้อในตัวเยาวชน ได้ร่วมพลิกฟื้น – ดูแลผืนแผ่นดินบ้านเกิด ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทย ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดได้ประกาศผลรายชื่อกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ได้รับโอกาสเข้ามาพัฒนาโครงการ จำนวนทั้งหมด 27 กลุ่ม ซึ่งหากน้องๆ ทุกกลุ่มช่วยกันพัฒนาโครงการของกลุ่มให้มีความชัดเจน และสามารถดำเนินการให้เห็นผลได้จริงตรงตามเป้าหมาย ก็จะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อเริ่มดำเนินโครงการในลำดับต่อไป
คุณครรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของไทยและของโลกกำลังอยู่ในภาวะที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ทันกับสถานการณ์ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้จึงต้องเร่งลงมือปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลก อย่างน้อยให้อยู่ในสถานการณ์ที่เราควบคุมได้ และทำให้ตระหนักมากขึ้นว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเยาวชนถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ โครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” จึงถือเป็นแบบฝึกหัดให้เยาวชนได้ลงมือทำจริงผ่านโครงงานปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ เข้าใจ และฝึกฝนพัฒนาตนเอง ให้เป็นคนที่อยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ทำลาย และเกิดสำนึกในการอนุรักษ์และรักษา
"ผมคิดว่าถ้ามองผลระยะยาว เราต้องการให้เกิดตัวอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่เยาวชนคนอื่นๆ จะได้มาสนใจ เป็นจุดหมุนที่ทำให้เกิดกระแสของเยาวชนหน้าใหม่ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เวลานี้เยาวชนกลุ่มนี้อาจมีจำนวนไม่มากนัก แต่การที่เราเพิ่มจำนวนของเยาวชนกลุ่มนี้ขึ้นทุกปีก็จะทำให้มันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และถ้าในระดับโรงเรียน สิ่งที่เยาวชนทำได้ผล เป็นที่ยอมรับของครู และของชุมชน หรือจากคนรอบข้าง เยาวชนกลุ่มนี้ก็จะขยายตัวได้เร็วขึ้น ในส่วนของโครงการ "ปลูกใจ ... รักษ์โลก" เองก็จะทำหน้าที่หนุนเสริมให้เยาวชนที่สนใจได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเอง ให้สามารถทำงานออกมาได้ดีและต่อเนื่อง"
ด้าน คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีความเชื่อว่า เยาวชน มี "บทบาท" และ "มีพลัง" ในการรักษาสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เยาวชนได้รับการฝึกฝน หล่อหลอม ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม มีวิถีชีวิตที่ใส่ใจและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะมีแนวทางและทักษะในการดูแลรักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “กองทุนสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” นี้จึงเป็น "กลไกการพัฒนาเยาวชน" ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง (Active citizen) ที่ใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับมีบทบาทในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”
สำหรับ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เยาวชนจะได้รับจากโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” ประกอบด้วยการเวิร์คช็อป 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ เวิร์คช็อปครั้งที่ 1 พี่เลี้ยงจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนได้พัฒนาโครงการของตนให้มีความคมชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิธีการทำงานกับประเด็นที่สนใจ เวิร์คช็อปครั้งที่ 2 พี่เลี้ยงให้คำแนะนำและช่วยเติมเต็มความรู้ที่เยาวชนยังขาดเป็นรายกลุ่มหลังจากที่พี่เลี้ยงได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของเยาวชนแล้ว รวมถึงเยาวชนจะได้นำประสบการณ์การทำงานจริงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนต่างกลุ่มภายในเวที และเวิร์คช็อปครั้งสุดท้าย เพื่อสรุปบทเรียนการทำงาน และพี่เลี้ยงเสนอแนะแนวทางการทำงานต่อแก่เยาวชนที่สนใจ
โครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง โดยผลิตนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวน้อยไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยชีวิตทั่วประเทศ สำหรับโครงการในปีที่ 3 มีเยาวชนจำนวน 12 กลุ่มเลือกทำโครงการสิ่งแวดล้อมในประเด็นป่าชุมชน ทั้งมิติการใช้ประโยชน์ การฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม รวมถึงการแก้ปัญหาลักลอบนำขยะมาทิ้งในป่า ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจากพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับป่าอย่างมาก ขณะที่เยาวชนจากภาคใต้สนใจเลือกประเด็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวม 6 กลุ่ม ส่วนเยาวชนกลุ่มที่เหลือเลือกประเด็นแหล่งน้ำสำคัญในชุมชน 4 กลุ่ม ขยะและมลภาวะ 3 กลุ่ม และปัญหาดินเสื่อมโทรม 2 กลุ่ม ในจำนวนทั้งหมด 27 กลุ่มนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่มเยาวชนจำนวน 6 กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปีที่ 1 และปีที่ 2 ซึ่งปีนี้เยาวชนกลุ่มนี้จะสานต่อการทำงานสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน ในลักษณะการต่อยอดการทำงานให้เกิดการขยายผลมากขึ้น
โดยหลังจากนี้ กลุ่มเยาวชนทั้ง 27 กลุ่มจะได้ร่วมเติมทักษะ และลงพื้นที่ทำโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2557 ถึงพฤษภาคม 2558 เป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยกำหนดให้มีการจัดอบรมครั้งที่ 1 "พัฒนาโครงการ และเสริมความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม" รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 14-18 ต.ค. 2557 จำนวน 14 กลุ่ม และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. 2557 จำนวน 13 กลุ่ม ณ ศูนย์ฝึกอบรมวีเทรน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
รายชื่อกลุ่มเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาพัฒนาโครงการ 27 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. กลุ่มเยาวชนบ้านดอยซิว จ.เชียงใหม่
2. กลุ่ม the youth of green society โรงเรียนแม่ตื่นวิทยา จ.เชียงใหม่
3. กลุ่มเยาวชนอาสาร่วมใจพัฒนาลดขยะชุมชน โรงเรียนแม่พริกวิทยา จ.ลำปาง
4. กลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิด จ.ลำปาง
5. กลุ่มเยาวชนฟรีด้อมโปรเจคเชียงราย จ.เชียงราย
6. กลุ่มละอ่อนอาสาพัฒนาสังคม โรงเรียนทาขุมเงินวิทยาคาร จ.ลำพูน
7. กลุ่มบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดาริ SW.PY โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ จ.พะเยา
8. กลุ่มชุมนุมสิ่งแวดล้อม โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน
9. กลุ่มอ้าซ่าปาจิงโกะ (รุ่นที่ 3) โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม จ.ตาก
10. กลุ่มพลังเยาวชนห้วยกะโปะ โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ จ.เพชรบูรณ์
11. กลุ่ม P.P.พิทักษ์โลก โรงเรียนพลพัฒนศึกษา จ.ขอนแก่น
12. กลุ่มเยาวชนอาสา รักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนไตรคามวิทยา จ.ขอนแก่น
13. กลุ่มเด็กเยาวชนกล้าดีตำบลโสนกเต็น จ.ขอนแก่น
14. กลุ่มลูกเขื่องในปลูกใจ รักษ์ป่า จ.อุบลราชธานี
15. กลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จ.มหาสารคาม
16. กลุ่มเมล็ดพันธุ์ดี รักษ์บ้านเกิด จ.บุรีรัมย์
17. กลุ่มแกนนำเยาวชนตำบลหนองอียอ จ.สุรินทร์
18. กลุ่มเยาวชนก่อการดี จ.เลย
19. กลุ่มรักษ์ ศ.ป. โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จ.สมุทรปราการ
20. กลุ่มเยาวชน บ.ล.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านหลวงวิทยาจ.นครปฐม
21. กลุ่มเยาวชนรักษ์สายน้ำ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจังหวัดนนทบุรี จ.นนทบุรี
22. กลุ่ม ว.ส.วัยใส หัวใจเด็กเล โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง
23. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนสตรีภูเก็ต จ.ภูเก็ต
24. กลุ่มฟื้นฟูและพัฒนาป่าชายเลน โรงเรียนละแมวิทยา จ.ชุมพร
25. กลุ่มเด็กไทยมุสลิมคิดดี โรงเรียนดวงแก้วอิสลามนุสรณ์ จ.กระบี่
26. กลุ่มบางวันยูธคลับ จ.พังงา
27. กลุ่ม 2 ทีมร่วมใจ อาสาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช