กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
25 กันยายน 2557 เวลา 13.30 น. ณ อาคารรัฐสภา 1 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) โดย รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ อุปนายกสมาคมฯ นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมฯ นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ กรรมการสมาคมฯ นายทองคำ แก้วพรม กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และน.สพ.ยันต์ สุขวงค์ นายกสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าพบนาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อขอความอนุเคราะห์การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... ที่คงค้างการพิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อสวัสดิภาพสัตว์ ประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ โดยสมาคมฯ ในนามภาคประชาชนได้ทุ่มเท ผลักดันร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มานานกว่า 10 ปี แล้ว
โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เดินหน้ามาไกลแล้วในรัฐบาลชุดก่อน เพราะผ่านวาระ 2 แล้ว เหลือเพียงลงมติในวาระ 3 เท่านั้น ซึ่งถือว่าผ่านการพิจารณามาพอสมควร จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็วแน่นอน
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ซึ่งเป็นองค์การที่มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเมตตาต่อสัตว์ ตลอดจนการแสวงหาทางป้องกันมิให้มีการทารุณกรรมสัตว์ด้วยวิธีการที่ยั่งยืน สมาคมฯ มีนโยบายสำคัญมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่จะป้องกันการทารุณสัตว์ และทำให้สัตว์ทุกชนิดในประเทศไทยมีสวัสดิภาพที่ดี
ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เป็นผู้เริ่มดำเนินการจัดประชุมระดมความคิดเห็นและการสนับสนุนจากภาคประชาชน ภาคสังคม องค์กรต่างๆ โดยรวมทั้งสภาทนายความ เพื่อทำการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... พร้อมกับนำเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... ผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นร่างที่นำเสนอโดยภาคประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นอีกทั้งภาคประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย ตลอดจนรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้แก่รัฐสภา ซึ่งรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบรับหลักการโดยผ่านวาระที่ 1 ด้วยจำนวน 325 เสียง ต่อ 0 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยทั่วไป ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 นับเป็นประวัติการณ์ของการเสนอร่างกฎหมายโดยไม่มีผู้คัดคาน อีกทั้งยังได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ตามขั้นตอนปกติควรจะได้รับการบรรจุเข้ารับการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาตามขั้นตอนแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐสภาได้เร่งการพิจารณากฎหมายอื่น จึงมีผลทำให้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้จึงยังคงค้างรอการพิจารณา