กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมหอสมุดจากไทยร่วมประชุมห้องสมุดสมาชิกกลุ่มเอเชียแปซิฟิกของ OCLC ประจำปีที่ประเทศเกาหลี ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม ศกนี้
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยห้องสมุดชั้นนำของไทยจำนวน 52 คนเข้าร่วมประชุมเครือข่ายห้องสมุดในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกของ OCLC ณ มหาวิทยาลัยเจจู ประเทศเกาหลี เจ้าภาพจัดประชุมในปีนี้ ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2557 โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 200 คนจากทุกประเทศสมาชิกในภูมิภาค หัวข้อการประชุม คือ Collaboration in the Asia Pacific Century เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกมานำเสนอพัฒนาการในแต่ละประเทศ เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาห้องสมุดในประเทศสมาชิก
นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากการเสนอชื่อและโหวตลงคะแนนจากห้องสมุดสมาชิก ในปี พ.ศ. 2557 นี้ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีอีกวาระหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จากห้องสมุดจากประเทศไทยจะได้เข้าร่วมในการประชุมเครือข่ายห้องสมุดในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกของ OCLC โดยปีนี้ประเทศเกาหลีเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ภายใต้หัวข้อ Collaboration in the Asia Pacific Century ที่มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกจากทั่วโลกเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการห้องสมุดในการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ด้วยปณิธานของการก่อตั้ง OCLC ที่กำหนดไว้ว่า “เพื่อการเชื่อมโยงผู้คนสู่แหล่งข้อมูลผ่านความร่วมมือระหว่างห้องสมุด Connecting people to knowledge through library cooperation” ทำให้ห้องสมุดสมาชิกโดยการประสานงานของ OCLC ดำเนินการร่วมกันเพื่อผลิต รักษาและให้บริการข้อมูลบรรณานุกรม ฐานข้อมูลบรรณานุกรมของ OCLC เป็นคลังข้อมูลบรรณานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างห้องสมุดจะช่วยพัฒนาความรู้ บริการและการเข้าถึงข้อมูลแก่ผู้คนทั่วโลก
ในบรรดาเจ้าหน้าที่จำนวน 52 คนของไทย แบ่งเป็นตัวแทนจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 20 คน มหาวิทยาลัยมหิดล 5 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 12 คน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 คน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันเทคโนโลยี สิรินธร 6 คน และห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทย 6 คน ซึ่งนอกจากการประชุมเครือข่ายสมาชิกแล้ว OCLC ยังจัดนำชมห้องสมุดสำคัญๆ ในประเทศเกาหลีแก่สมาชิกอีกด้วย ได้แก่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเจจู Jeju ห้องสมุด Halla Library ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Yonsei University Library และหอสมุดแห่งชาติเกาหลี National Library of Korea
ทั้งนี้ OCLC ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 โดยเฟรด คิลกอร์ ในสถานะขององค์กรไม่แสวงกำไร มีเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของห้องสมุดทุกแห่งในโลก และเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิต การเข้าถึงข้อมูลแก่สาธารณชน ปัจจุบันมีห้องสมุดทั่วโลกมากกว่า 70,000 แห่ง ใน 86 ประเทศเป็นสมาชิกของ OCLC สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดับลิน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
การดำเนินงานความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกของ OCLC แบ่งสมาชิกตามภูมิภาคที่ตั้งของห้องสมุดเป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มอเมริกา 2.กลุ่มยุโรป ตะวันออกกลาง อัฟริกา อินเดีย และ 3.กลุ่มเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเอเชียแปซิฟิกของ OCLC มีสมาชิกเป็นห้องสมุดจาก ประเทศออสเตรเลีย บรูไน จีน ฟิจิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย เกาหลี นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมีคณะกรรมการบริหารเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก 9 คน คัดเลือกจากการเสนอชื่อและโหวตลงคะแนนจากห้องสมุดสมาชิก ในปี พ.ศ. 2557
คณะกรรมการบริหารกลุ่มเอเชียแปซิฟิกมีรายนามดังนี้ 1.ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธาน 2.Craig Anderson ผู้อำนวยการห้องสมุด RMIT ประเทศออสเตรเลีย รองประธาน 3. Howard Amos ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัย Otago ประเทศนิวซีแลนด์ เลขานุการ 4.Peter Sidorko ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง กรรมการ 5. Hsueh-hua Chen ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กรรมการ 6. Honam Choi ผู้อำนวยการ Korea Institution of Science and Technology Information กรรมการ 7. Jinkang Deng ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัย Tsinghua สาธารณรัฐประชาชนจีน กรรมการ 8.Makoto Nakamoto ผู้อำนวยการบริหารห้องสมุดมหาวิทยาลัย Waseda ญี่ปุ่น กรรมการ 9. Nor Edzan binti Che Nasir ผู้อำนวยการห้องสมุด University of Malaya ประเทศมาเลเซีย กรรมการ