ออมสินชูเทคโนโลยีปรับองค์กรฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ จับมือพันธมิตรอินฟอร์มิกซ์และที.เอ็น.อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday February 26, 1998 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--26 ก.พ.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน ไม่หยุดยั้งพัฒนาองค์กร แม้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จับมือ อินฟอร์มิกซ์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูล และที.เอ็น อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ นำเทคโนโลยี Informix Universal Server พัฒนาระบบอินทราเน็ต พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Object Relational Database Management Systems เชื่อมโยงข้อมูลของธนาคารสู่ภาคปฏิบัติ เผยแผนอนาคตใช้สื่อ มัลติมีเดียฝึกอบรมผ่านอินทราเน็ต หวังลดต้นทุน
ธนาคารออมสินก้าวสู่ยุคข่าวสารเทคโนโลยี เริ่มพัฒนาความพร้อมขององค์กรและประสิทธิภาพการบริการเพื่อสู้ศึกชิงลูกค้า โดยจับมือเซ็นสัญญาลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท อินฟอร์มิกซ์ ซอฟท์แวร์(ประเทศไทย) และบริษัท ทีเอ็น อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ พัฒนาระบบ อินทราเน็ต ในธนาคารออมสิน ข้อมูลที่จะถูกจัดเก็บในระบบอินทราเน็ตของธนาคาร จะเป็นข้อมูลที่พนักงานควรทราบและปฏิบัติเพื่อความสะดวกของลูกค้า โดยแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่คือ ข้อมูลสำหรับการปฏิบัติภายใน เช่นกฎระเบียบ มติการประชุม คำสั่งต่างๆ รายงานประจำปี เป็นต้น ส่วนหมวดที่ 2 เป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาธุรกิจของธนาคาร เช่นการบริการ ข้อมูลรายละเอียดการบริการ การเปลี่ยนแปลงบริการ หรือการเพิ่มบริการ เป็นต้น โดยส่วนที่เน้นจะเป็นการสนองความต้องการด้านธุรกรรมการเงินของลูกค้าธนาคาร
นายยงยุทธ ตะริโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ซึ่งควบคุมดูแลสายงานบัญชี การเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้กล่าวหลังการลงนามสัญญาบันทึกความร่วมมือว่า “จากภาวะการเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ต่างหา กลยุทธ์ในการแย่งชิงลูกค้าเงินฝาก และพยายามที่จะปรับปรุงสถานที่ และการให้บริการใหม่ๆ รวมถึงวิธีการอื่นๆ เพื่อสร้างความประทับใจ และความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ดังนั้นเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าของธนาคารออมสิน ธนาคารจึงต้องพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การบริการให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ธนาคารต้องปรับระบบการทำงานให้เข้ากับยุคข้อมูลข่าวสาร (Globalization) เมื่อประเภทของการบริการมีมากขึ้น ลูกค้าของธนาคารย่อมมีมากขึ้นทุกปี ข้อมูลของลูกค้าและข้อมูลการทำธุรกรรมด้านการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ธนาคารออมสินจึงมองว่าหากเรานำอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ตมาใช้ก็จะช่วยได้มาก และขณะนี้ ธนาคารออมสินได้นำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้แล้ว จึงได้นำระบบอินทราเน็ตมาเสริม ส่วน ระบบอินทราเน็ต จะช่วยให้พนักงานธนาคารทราบข้อมูลต่างๆของธนาคารเพื่อการบริการที่สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาในการจัดส่งเอกสาร และที่สำคัญถือเป็นอีกด้านหนึ่งที่ธนาคารออมสินใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างครบวงจร”
สำหรับการพัฒนาระบบอินทราเน็ตของธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินได้เลือกใช้เทคโนโลยี Object Relational Database Management Systems หรือ ORDBMS ของบริษัท อินฟอร์มิกซ์ซอฟท์แวร์ (ประเทศไทย) นายยงยุทธกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ทางธนาคารได้มีการศึกษาการใช้ระบบอินทราเน็ต และระบบฐานข้อมูลที่เหมาะสมกับข้อมูลของธนาคาร รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้งาน เห็นว่า เทคโนโลยี ORDBMS เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการในการจัดระบบข้อมูลของธนาคารได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถจัดเก็บข้อมูลได้หลายประเภท ทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเลข หรือ เป็น Text ในรูปแบบมัลติมีเดีย อย่างเช่น การฝึกอบรมของธนาคารที่จัดให้พนักงานในแต่ละครั้ง ทางธนาคารก็จะจัดเก็บเข้าสู่ระบบอินทราเน็ต เพื่อให้พนักงานมีโอกาสในการทบทวน ฝึกทักษะในรูปแบบของมัลติมีเดีย รวมทั้งระบบฐานข้อมูล ORDBMS ให้ความเร็วสูงในการดึงข้อมูลจาก Database ต่างๆ ออกมาใช้งาน เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ บริการลูกค้าของธนาคารได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าข้อมูลแต่ละส่วนจะมาจากระบบงานที่ต่างกัน”
นายขวัญชัย เลิศจุลัศจรรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟอร์มิกซ์ ซอฟท์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัดได้เปิดเผยว่า “เทคโนโลยีที่ทางบริษัท อินฟอร์มิกซ์ฯ นำเสนอให้กับระบบอินทราเน็ตของธนาคารออมสินใช้เก็บข้อมูลธนาคารคือระบบฐานข้อมูล Informix Universal Server เป็น เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เทคโนโลยี ORDBMS มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลในรูปของมัลติมีเดีย และวิดีทัศน์ ในรูปของอิมเมจ ข้อมูลที่เป็น Text หรือตัวเลขได้ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากว่าต้องจัดเก็บข้อมูลที่มากขึ้นกว่าปัจจุบัน และความร่วมมือกับธนาคารออมสินและทีเอ็น อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ในครั้งนี้ เพื่อให้ระบบอินทราเน็ตของธนาคารออมสิน มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน และส่งผลให้ธนาคารมีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถให้บริการลูกค้าธนาคารได้มากที่สุด ” นายขวัญชัย ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า “การพัฒนาระบบอินทราเน็ตของธนาคารออมสินครั้งนี้ บริษัท อินฟอร์มิกซ์ไม่เพียงเข้ามาร่วมพัฒนาอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลอีกด้วย”
ด้านนายชาย แต่บรรพกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีเอ็น อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “การที่บริษัท ทีเอ็น อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ได้เลือก บริษัท อินฟอร์มิกซ์มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบอินทราเน็ต ของธนาคารออมสิน เนื่องจาก เห็นว่าระบบจัดการฐานข้อมูลของบริษัท อินฟอร์มิกซ์ เป็นระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย และไม่มีข้อจำกัดเรื่องการทำงานกับ Application อื่นๆ หรือเรียกว่าเป็นระบบเปิด ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารออมสินจะมีระบบอินทราเน็ตที่สมบูรณ์ เพื่อผลในการบริการลูกค้าของธนาคารได้ประสิทธิภาพสูงสุด”
ข้อมูลต่างๆ ในระบบอินทราเน็ตของธนาคารออมสิน ที่พนักงานในองค์กรเปิดใช้งานได้ เพื่อความรวดเร็ว และการบริการที่เพิ่มประสิทธิภาพนั้น แบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่
1. E-mail หรืออิเล็กทรอนิค เมล์ เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในส่วนของเอกสาร
2. Bulletin Board ที่ใช้แจ้งข่าวสารให้กับพนักงาน
3. On-Line Training พนักงานสามารถฝึกอบรมผ่านระบบอินทราเน็ตในรูปของสื่อ มัลติมีเดีย เพื่อประหยัดเวลา และงบประมาณในการเดินทางฝึกอบรมนอกสถานที่
4. Corporate Telephone Directory เพื่อการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ภายใน
5. Electronic Form สำหรับพนักงานที่ต้องการสมัครเข้าฝึกอบรม สามารถสมัครผ่านทางอิเล็กทรอนิค ฟอร์ม แล้วส่งกลับไปที่กองฝึกอบรม สำนักงานใหญ่ได้ เป็นการประหยัดเวลา และเอกสาร
6. Paging Service ในส่วนของพนักงานที่ต้องการใช้บริการฝากข้อความผ่านวิทยุติดตามตัวสามารถทำได้โดย เรียกหมายเลขแล้วฝากข้อความผ่านระบบอินทราเน็ตของธนาคาร ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้าสู่โฮมเพจของบริษัทผู้ให้บริการ วิทยุติดตามตัวได้
7. Omsin Lottery Checking พนักงานสามารถตรวจสลากออมสินผ่านอินทราเน็ตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถ บริการตรวจสอบสลากออมสินให้แก่ลูกค้าได้รวดเร็ว นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ บริการได้ดียิ่งขึ้น
นายยงยุทธได้กล่าวสรุปว่า “บริการทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงส่วนเริ่มต้น ซึ่งทางธนาคารออมสินและบริษัท ทั้ง 2 จะร่วมมือกันพัฒนาระบบอินทราเน็ตของธนาคารและระบบอื่นๆ จากการระดมความคิดของผู้ใช้ เริ่มตั้งแต่พนักงานทั่วไป จนถึงระดับผู้บริหารธนาคาร เพื่อการใช้งานที่สมบูรณ์แบบต่อไป”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
คุณแพรวพิมพ์, คุณบุษกร
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
โทร.682-6111 , 682-6222 ต่อ 1742,1743 --จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ