สกศ. ดึงคนดัง เยี่ยมโรงเรียน หวังกระตุ้นคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 1998 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--5 มี.ค.--สกศ.
จากการเสวนา ONEC FORUM เรื่อง "อาสาสมัครเยี่ยมโรงเรียน : รวมพลังเพื่อการศึกษาของชาติขึ้นที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) โดยมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากนั้น ศ.ดร.มนตรีจุฬาวัฒนทล ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาพิเศษเพื่อการพัฒนาครู และ บุคลากรทางการศึกษา (สปค.) ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในแต่ละปีเราลงทุนด้านการศึกษาเป็นเงินงบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท โดยงบประมาณ ได้ผลและมีคุณภาพเพียงใด ชุมชนและประชาชนควรมีโอกาสได้รับทราบและมีโอกาสพัฒนาคุณภาพเหล่านี้ โครงการอาสาสมัครเยี่ยมสถานศึกษา จึงค้นคว้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน อยากให้ชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาสนใจถึงการพัฒนาและได้มีโอกาสสัมผัสกับสถานศึกษา แล้วอาจมีข้อเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นถึงผู้บริหารสถานศึกษาเกิดภาพของการพัฒนาที่ถูกต้อง
โครงการนำร่องอาสาสมัครเยี่ยมโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเป้าหมายแรก ในระดับโรงเรียนมัธยมต้นถึงมัธยมปลายจำนวน 350 แห่ง หลักการสำคัญคือเราไม่ได้ไปตรวจแต่ไปเยี่ยมเพื่อสร้างไมตรี หาทางพัฒนาไม่ได้เป็นการตรวจสอบหรือจับผิด เพราะฉะนั้น จึงต้องการอาสาสมัคร 200-300 ท่าน ซึ่งจะมีการเปิดตัวโครงการ โดยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ ในสังคมไปเยี่ยมโรงเรียน
สำหรับผู้สนใจและสามารถสมัครเข้าโครงการได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ถนนสุโขทัย กรุงเทพฯ 10300 โทร. 668-7123 ต่อ 2325-2330
ทางด้านนายชัชวาลย์ สุนทรรังษี รองเลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึง โครงการนี้ว่า นับว่า สกศ.ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีโอกาสพัฒนาประเทศ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ถ้าสามารถจับระบบ ส่วนนี้กระทรวงไม่เข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้เกิดความอิสระ ข้อมูลที่ได้มาก็จะเป็นข้อมูลที่แท้จริง และเป็นตัวป้อนกลับให้กระทรวงศึกษาธิการได้ ซึ่งทำให้ทราบว่าโรงเรียนมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอาจนำผลที่ได้ไปพิจารณาในเรื่องของนโยบายและงบประมาณต่อไป
สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครแล้วต้องรายงานข้อมูลที่ได้พบเห็นตามความเป็นจริง ที่ผ่านมาเป็นเพราะประเทศเราไม่ยอมรับความเป็นจริงจึงทำให้ผิดพลาดอย่างเช่นปัจจุบัน
ในอนาคต หากโครงการนี้ ประสบความสำเร็จมีผู้อาสาสมัครไปเยี่ยมสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โรงเรียนในประเทศเราจะปรับตัวเพิ่มมากขึ้นศักยภาพของครูจะมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กของเรารู้จักคิด และเป็นผู้นำมากกว่าผู้ตามอย่างในปัจจุบัน
ทางด้านนายชาตรี สุขถาวร กำนันตำบลไร่ขิง จังหวัดนครปฐม กล่าวว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการนี้เพราะจะทำให้เกิดการตื่นตัวของคนในชุมชนได้มามีส่วนร่วมกับสถานศึกษา ถ้าเรามัวแต่รอภาครัฐก็ไม่เพียงพอและเป็นไปได้ช้า ถ้าท้องถิ่นเข้ามาช่วยก็เหมือนกับช่วยบุตรหลานของเขาเอง โดยทุกคนมีส่วนร่วมในช่วยเหลือด้านการศึกษาได้ทั้งสิ้น--จบ--

แท็ก จุฬา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ