กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
ในโอกาสพิธีเปิดแล็บวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดียโดย ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวลาดกระบังคนใหม่ ซึ่งเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเปิดสอนหลักสูตรต่างๆกว่า 50 หลักสูตรทั้งปริญญาตรี-โทและเอก รวมนักศึกษากว่า 7,500 คน โดยตลอดระยะเวลา 54 ปีได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้านวิศวกรรมศาสตร์ป้อนสู่สังคมและพัฒนาเศรษฐกิจไทยจำนวนมาก ภายใต้การบริหารของผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณะวิศวลาดกระบัง ชูธงปฏิรูปวิศวกรรมศาสตร์ด้วยการเรียนการสอนแบบมุ่งผลลัพภ์ (Outcome Based Learning) สร้างทรัพยากรมนุษย์ Global Engineer วิศวกรแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สังคมไทยและโลกต้องการ ตอบสนองการพัฒนาประเทศและสังคมอย่างยั่งยืน ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การศึกษาของไทยไปอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน เนื่องจากระบบการศึกษาไทยมีลักษณะป้อนข้อมูล (Input – Based Education) ครูเป็นศูนย์กลาง เน้นเนื้อหาตำรา ชั่วโมงบรรยาย และการสอนแบบ Lecture – Based Learning คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้พัฒนาปฏิรูปการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นระบบมุ่งผลลัพภ์ (Outcome Based Learning)โดยนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อสร้าง “Global Engineer”หรือวิศวกรที่เปี่ยมทักษะของศตวรรษที่21 มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้คิด ได้ทำจริง และมีคุณธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม เราวางแผนให้การปฎิรูปวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลักสูตรและระบบให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมอาจารย์ให้เป็นโค้ชของกระบวนการ และได้สอนในระบบใหม่กันแล้วซึ่งไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ คุ้นเคยกับการใช้และเข้าถึงไอที ค้นคว้าได้รวดเร็ว ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ในชั้นเรียน อาจารย์ดำเนินการกระบวนการเรียนรู้เพื่อบรรลุไปสู่ผลสัมฤทธิ์ ด้วยวิธีการ ได้แก่ 1. เรียนรู้จากกิจกรรม (Activities – Based Learning) ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม การบรรยายจะเหลือเพียง 25 – 30% เท่านั้น นอกนั้นเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย ให้คิด ค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2. การเรียนรู้จากแก้ปัญหา (Problem – Based Learning) โดยกำหนด เป้าหมายความรู้/ทักษะที่นักศึกษาจะต้องรู้แล้วตั้งโจทย์ให้นักศึกษาหาความรู้มาแก้ สรุปสิ่งที่ “เรียนรู้” แล้วใช้ “สิ่งที่เรียนรู้” ในการแก้ปัญหาต่อไป และ3. การเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project – Based Learning) ใช้ความรู้และทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น แล้วนำเคสปัญหามาวิเคราะห์สาเหตุและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยใช้ความรู้ สรุปเป็นโครงงานแก้ปัญหา และการเรียนรู้
ห้องเรียนของวิศวลาดกระบัง เป็น “ห้องเรียนกลับทาง” หรือ Flipped Classroom แทนที่จะให้การบ้านไปทำที่บ้าน แต่ให้ทำที่สถาบันเลย เช่น ทำคลิปมาให้ผู้เรียนได้ศึกษา แล้วให้ค้นคว้าหาข้อมูลมาวิเคราะห์ ให้กลายมาเป็น”ความรู้” ดังนั้นการเรียนรู้ มิได้เกิดจาก “คำตอบ” แต่อาจารย์ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดสภาวะที่ผู้เรียน “ได้คิด” เรียนรู้และแสวงหาด้วยตนเอง พร้อมไปกับปลูกฝังให้ใช้ความรู้โดยมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็น Service Learning โดยมีความเข้าใจที่จะนำความรู้ไปแก้ปัญหา ก่อให้เกิดประโยชน์และตอบโจทย์ช่วยสังคมได้จริง
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงการประเมินผลนักศึกษา ว่า “ แต่ก่อนดูจากการสอบอย่างเดียว ปรับมาดูจากผลสัมฤทธิ์ด้วย เช่นเดียวกับหลักพุทธที่ว่า การรู้แจ้งนั้นมาจากการปฎิบัติ โดยธรรมชาติมนุษย์จะสามารถเรียนรู้จากการกระทำ การเห็น มากกว่าการฟัง หลักสูตรวิศวลาดกระบังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำวิจัยในเรื่องที่ตนเองสนใจ อัตราส่วนเรียน 70 % และการปฎิบัติกิจกรรมอีก 30 % ตั้งแต่ปี 1 จะได้รับแรงบันดาลใจกับกูรูและผู้นำที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและต่างประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงว่า เขาประสบผลสำเร็จในด้านนั้นอย่างไร นักศึกษาปี 3 จะเข้าฝึกงานในภาคอุตสาหกรรม 2 เดือน และนักศึกษาปี 4 จะทำวิจัยเรื่องที่เป็นประโยชน์ในบริษัทภาคอุตสาหกรรม เป็นเวลา 4 เดือน สำหรับแนวโน้มอนาคตของวิศวกรรมศาสตร์ที่จะตอบรับการพัฒนาประเทศและโลก คือ วิศวกรรมพลังงาน ระบบขนส่งทางรางและโลจิสติกส์ ไอซีที่ ชีวการแพทย์ วิศวกรรมอาหารและเกษตร แผนการดำเนินงานมีการพัฒนาเพิ่มห้องปฎิบัติการวิศวกรรมขนส่งทางราง วิศวกรรมชีวการแพทย์ และเตรียมเปิดวิจัยศูนย์หุ่นยนต์ในราวต้นปีหน้า2558
จากวิสัยทัศน์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในการ “เป็นผู้นำปฏิรูปการศึกษาและเป็นผู้นำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจไทย” คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นสถาบันที่มุ่งสร้างผู้นำ หล่อหลอมนักศึกษาให้แกร่งทั้งวิชาการ, ทักษะการปฏิบัติ, ความเป็นผู้นำและช่วยเหลือรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อจบออกไปวิศวกรทุกคนยังจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาตนเองและโลกรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว”