กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--BrainAsia Communication
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. และ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอรัฐบาลไทยออกมาตรการป้องกันเหล็กจีนทุ่มตลาดด้วยราคาต่ำ จากปัญหาเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตคุณภาพต่ำและเจือโบรอนเพื่อการอุดหนุนและเลี่ยงภาษีตามพิกัดศุลกากรไทย เผยการถล่มพังของสะพานและอาคารในจีน ทำให้นานาประเทศหวั่นวิตก ชี้ผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและทรัพย์สิน สังคม สาธารณูปโภคทั่วประเทศ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและจะบั่นทอนขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย เสนอ 5 มาตรการสกัดการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากจีน รวมทั้งการยกระดับมาตรฐาน มอก. เกี่ยวกับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตใหม่
เหล็กเส้นเจือโบรอน หรือ อัลลอยด์
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat)นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยว่า “เหล็กเส้นในโครงสร้างอาคารเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นแกนหลักของโครงสร้างทั้งหมดและเป็นจุดเชื่อมต่อให้กับอวัยวะสำคัญอื่นๆของร่างกาย ประเทศไทยนับเป็นผู้นำเข้าเหล็กสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยที่ผ่านมานำเข้าเฉพาะเหล็กแผ่น เหล็กรูปพรรณ และเหล็กลวด แต่ตอนนี้ผู้นำเข้าในประเทศไทยเริ่มมีการเตรียมการนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากประเทศจีนมายังประเทศไทยซึ่งอาจมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอและนำเข้ามาในราคาที่ต่ำมากกว่าปกติ เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศจีนได้รับการสนับสนุนการส่งออกจากรัฐบาล เพราะส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น การสนับสนุนที่ดิน พลังงาน เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด การยกเว้นการจ่ายเงินปันผลและภาษีรายได้นิติบุคคล สร้างความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต ทำให้ประเทศจีนส่งออกสินค้าเหล็กเส้นไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะได้รับการอุดหนุนจากทางการจีนเองแล้ว ยังเจตนาใช้ช่องว่างทางกฎหมายส่งออกสินค้า เหล็กเส้นเจือโบรอน หรือ อัลลอยด์ ซึ่งถือเป็นเหล็กพิเศษนั้น เหมาะสำหรับใบมีดอุตสาหกรรม และรถยนต์เพื่อเพิ่มความแข็งแต่ไม่เหนียว เหล็กเส้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่มีความจำเป็นต้องมีการเจืออัลลอยด์แต่อย่างใด ทั้งนี้ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University)แห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ได้ยืนยันเช่นเดียวกัน
เหตุใดจึงต้องปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของไทย
เหตุที่ต้องปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไว้ให้พ้นการผูกขาดจากการทุ่มตลาดของเหล็กจีนที่อาจเลี่ยงภาษีและอาจมีปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานที่ต้องการความสม่ำเสมอ เพราะ 1.อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเป็นหนึ่งในวัสดุสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยของทรัพย์สินประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนของประชาชน และสาธารณูปโภคทั่วประเทศ 2.เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตด้อยคุณภาพจะทำลายคุณภาพมาตรฐานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 3.คุณภาพของการก่อสร้างสาธารณูปโภคและเมกะโปรเจค เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตมีผลต่ออายุการใช้งานและคุณภาพของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น 4. การค้าที่ไม่โปร่งใสและเลี่ยงภาษี(Trade Abuse) จะทำความเสียหายต่อประเทศชาติ จากการอาศัยช่องโหว่ในการนำเข้าสินค้าเจือโบรอนเพื่อเปลี่ยนแปลง "พิกัดศุลกากร" จาก "เหล็กเส้น" เป็น "เหล็กเจือธาตุอื่น" ทำให้เปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าจาก 5 % เป็น 0 % รัฐต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อปี 5.ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของหลากหลายอุตสาหกรรมและการลงทุน หลายอุตสาหกรรมใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ หากปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยอ่อนแอและถูกผูกขาดโดยเหล็กนำเข้า จะสร้างผลกระทบต่อต้นทุนและขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย และจะกลายเป็นภาระของประชาชนในที่สุด
สภาวะตลาดเหล็กของไทย
คุณนิกร สุศิริวัฒนนนท์ (Nikorn Susiriwattananont) รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า “ การบริโภคเหล็กโดยรวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10.8 ล้านตันในปี 2009 มาเป็น 17.7 ล้านตัน ในปี 2013 แต่ปริมาณการผลิตในประเทศกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูการบริโภคเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นจาก 4.1 ล้านตันในปี 2009 เป็น 5.9 ล้านต้นในปี 2013 นั้นกลับทำให้ประเทศไทยเสียดุลการค้าและพึ่งพาต่างประเทศ โดยเป็นปริมาณนำเข้าจาก 1 ล้านตันในปี 2009 มาเป็นเกือบ 3 ล้านตันในปี 2013 ทั้งๆที่กำลังผลิตในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ( 7 ล้านตัน ), ในปี 2013 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเหล็กสุทธิเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีแนวโน้มจะเป็นอันดับ 1 เนื่องจากนานาประเทศในอาเซียนรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศของตน ตลาดเหล็กเส้นของประเทศไทยมีมูลค่ารวม 70,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นตลาดบริโภคในประเทศ 66,000 ล้านบาทและส่งออก 4,000 ล้านบาท) ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นของไทย มีผู้ประกอบการมากกว่า 50 รายและมีการจ้างงาน 25,000 คน ยังไม่รวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หากปล่อยให้เหล็กจีนทุ่มตลาดและผูกขาดตลาดในประเทศไทย จะทำให้ อุตสาหกรรมเหล็กเส้นที่มูลค่าลงทุน 150,000 ล้านบาท ต้องล่มสลายและทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมของประเทศที่เกี่ยวเนื่องที่ใช้เหล็กเส้นเป็นวัตถุดิบไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และประเทศจะขาดดุลการค้าสูงถึงปีละ 35,000 ล้านบาท ตลอดจนขาดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเหล็กสำหรับบุคลากรไทยอีกด้วย”
มาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ
คุณธนะ เรืองศิลาสิงห์ (Thana Ruangsilasingha ) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของเหล็กจีนเป็นการค้าที่ไม่โปร่งใส (Trade Abuse )ที่หวังผูกขาดตลาดไว้ในมือ ได้รับการตอบโต้จากนานาประเทศที่ได้ออกมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของตน เช่น อินโดนีเซีย ประกาศข้อบังคับใหม่ ออกมาตรการให้ผู้นำเข้าเหล็กเจือสารโบรอนหรืออัลลอยด์ต้องยื่นใบรับรองตรวจคุณภาพเพื่อขออนุญาตนำเข้า เปิดไต่สวนมาตรการ Safe Guard เหล็กแผ่นรีดร้อนโบรอนจากจีน , เวียดนาม ประกาศเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้าพิกัดเหล็กเจือโบรอน จากร้อยละ 0 เป็น 10 , เกาหลีใต้ ยื่นการเปิดไต่สวนมาตรการ AD (Anti-Dumping) ในอัตราร้อยละ 21.15 กับสินค้า H-BEAM ในพิกัดเหล็กทั่วไปและเหล็กเจืออัลลอยด์จากจีน, ออสเตรเลีย ได้เพิ่มกำหนดในร่างมาตรฐานสินค้า AS / NZS 2679.1.2010 ไม่ให้มีการเจือสารโบรอนในเหล็กเส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สหรัฐอเมริกา ได้ขยายขอบข่ายในการบังคับใช้มาตรการสกัดการทุ่มตลาดหรือ AD (Anti-Dumping) กับเหล็กแผ่นเจือสารโบรอน เช่นเดียวกับเหล็กแผ่นทั่วไปจากจีน, ปากีสถาน เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าพิกัดเหล็กกล้าเจืออัลลอยด์ ในอัตราร้อยละ 10, มาเลเซีย ออกมาตรการให้ผู้นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าต้องยื่นใบรับรองตรวจคุณภาพเพื่อขออนุญาตนำเข้าเป็นกรณีไป (Apply for Certificate of Approval)เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย
ถึงเวลาปรับ มอก.มาตรฐานเหล็กอุตสาหกรรม
รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานกรรมการเหล็กเส้น มอก. และประธานวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการ คณะที่ 9 (กว.9) ของสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรมได้พัฒนาและเห็นชอบในการพัฒนาปรับปรุงเกณฑ์ซึ่งถึงเวลาแล้วที่มอก. ด้านเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตของไทยควรยกระดับคุณภาพมาตรฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยต่ออาคารและการใช้งาน มาตรฐานเหล็กเส้น เช่น การกำหนดกำลังดึงของเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตให้มีช่วงของกำลังดึงตามที่กำหนดในกรอบที่แคบขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมที่กำหนดค่าต่ำสุดไว้ เป็นเหตุให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศมีกำลังดึงของเหล็กสูงมาก และสูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นค่าที่วิศวกรนำไปออกแบบ ส่งผลให้การประเมินกำลังของโครงสร้างผิดพลาด และมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร โดยเฉพาะในอาคารที่รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานใหม่นี้จะอาจส่งผลให้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในตลาดปัจจุบันประมาณ 20-30% ไม่ผ่านเกณฑ์
เสนอ 5 มาตรการสกัดการทุ่มตลาดเหล็กของเหล็กจีน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวสรุปว่า “วสท.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เสนอให้รัฐบาลพิจารณาป้องกันการทุ่มตลาดของเหล็กเส้นจีนเจือโบรอนและคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กไทย 5 มาตรการคือ
1. กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควรงดออกใบอนุญาตนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากประเทศจีน เนื่องจากคุณภาพอาจไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีผลต่ออายุการใช้งานและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้างและสาธารณูปโภคของประเทศ
2. ขอให้ภาครัฐออกมาตรการทางด้านภาษีและทางด้านมาตรฐาน เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย เช่นเดียวกับนานาประเทศในภูมิภาคอาเซียนและอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน อินเดีย
3.อุดช่องโหว่ด้านกฎหมาย มิให้เหล็กจีนอ้างการเจือสารโบรอนพื่อปลี่ยนพิกัดศุลกากรและเลี่ยงภาษี 5% ขอให้กรมศุลกากรยึดหลักตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตตาม มอก.20-2543 สำหรับเหล็กเส้นกลมและ มอก.24-2548 สำหรับเหล็กข้ออ้อยที่ระบุไว้ว่ามีส่วนประกอบ 4 ธาตุเท่านั้น โดยไม่มีธาตุโบรอนแต่อย่างใด
4.เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้งานเหล็กเส้น วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน จนถึงตัวแทนจำหน่าย ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือการใช้สินค้าราคาถูกเพื่อลดต้นทุนโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จะส่งผลโดยตรงต่อการรับแรงกระทำในโครงสร้างต่างๆและกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณชน
5.เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีบุคคลากรที่เพียงพอและพัฒนาระบบตรวจประเมินคุณภาพการผลิตเหล็กจากแหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ไว้วางใจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรม เจ้าของโครงการและสังคมส่วนรวม