4 ข้อเสนอสำคัญ..ที่ได้จากการประชุมความร่วมมือด้านวัคซีนครั้งแรกของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 15, 2014 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--โฟร์พี.แอดส์ 96 บทสรุปจากการประชุมด้านวัคซีนครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กับ 4 ข้อเสนอสำคัญจากประเทศสมาชิกที่สะท้อนความต้องการของประเทศและภูมิภาค ทุกประเทศต้องหันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียนให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้ทุกประเทศมีวัคซีนใช้อย่างพอเพียงทั้งในภาวะปกติและยามฉุกเฉิน ในยามเกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ “สวช.” กล่าวว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ“โอกาสของการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียน”ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1- 3 ตุลาคม2557 ที่ผ่านมาที่จ.ภูเก็ต นับเป็นการประชุมด้านวัคซีนครั้งแรกในระดับภูมิภาค โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นตัวแทนระดับประเทศ วิทยากรจากหลายภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งองค์กรนานาชาติ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิต ผู้ควบคุมกำกับ นักวิจัย ผู้บริหารการใช้วัคซีนระดับชาติรวมกว่า 80 ชีวิต จากกว่า 10 ประเทศ อาทิ เวียดนาม ลาว เขมร พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา รวมทั้งประเทศไทย โดยที่ประชุมได้มีการตกลงและเห็นพ้องร่วมกันว่าอาเซียนควรสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้มีใช้อย่างเพียงพอในภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติ เพราะที่ผ่านมาอาเซียนประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนมาหลายครั้ง ทั้งๆที่หลายประเทศมีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตวัคซีนอยู่แล้ว อาเซียนจึงควรมีการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อผลักดันความมั่นคงด้านวัคซีนให้เกิดขึ้น ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอที่สะท้อนความต้องการของประเทศและภูมิภาคได้ 4 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.อาเซียนควรมีการบริหารจัดการพัฒนาวัคซีนอย่างเป็นระบบตั้งแต่การวิจัย พัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการใช้วัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบ 3.การกำหนดนโยบายด้านราคาในการจัดซื้อวัคซีนและความพยายามต่อรองราคาวัคซีนให้ได้ในราคาถูก 4.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับสังคมในกลุ่มคนภูมิภาคอาเซียนให้เห็นความสำคัญของความมั่นคงด้านวัคซีนและความสำคัญของการใช้วัคซีนในการควบคุมป้องกันโรค ดร.นพ.จรุงยังกล่าวอีกว่าเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้จะมีการประชุมASEAN Expert Group on Communicable Disease (AEGCD) ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะนำข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม และจะมีการนำเสนอแนวคิดโครงการที่ชัดเจนเพื่อให้ที่ประชุมเห็นด้วยร่วมกันและจัดการประชุมให้เกิดขึ้นในครั้งต่อไป โดยไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียว อยากให้แต่ละประเทศมองเป็นเรื่องของตนเองด้วยคือการเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งจะเห็นว่าการประชุมครั้งนี้ไทยมีศักยภาพในเรื่องการบริหารจัดการในการสร้างความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคนี้ได้โดยทางสถาบันวัคซีนจะเป็นตัวกลางในการประสานให้เกิดการติดตามผลหลังจากการประชุมและวางแนวทางดำเนินงานต่อไป “อีกไม่นานการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จะเริ่มขึ้น แม้ว่าการผลิตวัคซีนในแต่ละประเทศยังมีข้อจำกัด แต่จากการประชุมครั้งนี้เหล่าประเทศสมาชิกต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชากรในภูมิภาคอาเซียน ทุกประเทศจึงต้องหันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนให้เกิดขึ้นให้ได้”ดร.นพ.จรุงกล่าว ทางด้านนางศิริรัตน์ เตชะธวัช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายด้านวัคซีนสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะแม่งานจัดการประชุมครั้งนี้ ได้เล่าถึงที่มาก่อนที่จะเกิดเป็นการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการริเริ่มของสถาบันวัคซีนฯที่เห็นความสำคัญของความมั่นคงด้านวัคซีน ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่มองในภาพของอาเซียน เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ต้องมีการเตรียมตัว ที่จะทำให้ความมั่นคงด้านวัคซีนในภูมิภาคเกิด ขึ้นให้ได้ โดยทางสถาบันวัคซีนฯได้นำแนวคิดนี้ไปหารือกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและ SEARO จนสามารถจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นมา ซึ่งความมั่นคงด้านวัคซีนของอาเซียนนั้นเราไม่ได้มองแค่มีเงินซื้อวัคซีน แต่มองในแง่การวิจัยพัฒนาที่ต้องทำร่วมกัน เพราะปัญหาในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะคล้ายกันและเป็นปัญหาร่วมกัน เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก แทนที่เราจะซื้อวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่เราจะวิจัยพัฒนาร่วมกัน หรืออาจเป็นการผลิต เป็นการเปิดตลาดให้กว้างขึ้น ตัวอย่างเช่น สภากาชาดของไทยที่ผลิตวัคซีนBCG ได้มากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศก็สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ทำให้ในภูมิภาคอาเซียนมีวัคซีนใช้เพียงพอ มีวัคซีนบางตัวประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะไม่ผลิตเพราะราคาถูกลง ส่วนใหญ่จะผลิตวัคซีนตัวใหม่ที่มีราคาแพงกว่า ในขณะที่บางประเทศยังต้องใช้วัคซีนเหล่านี้อยู่เพราะเป็นโรคเฉพาะในภูมิภาค เราจึงจำเป็นที่ต้องมีการรวมตัวกันแล้วมาช่วยกัน มีการวิจัยพัฒนาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีกัน เพื่อทำให้เราสามารถมีวัคซีนที่จำเป็นไว้ใช้ในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนได้ในระยะยาว
แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ