กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--สำนักงาน กปร.
นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ ๒ / ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร.แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยมีหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รักษาการเลขาธิการ กปร. นายดนุชา สินธวานนท์ รักษาการรองเลขาธิการกปร และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง๖ แห่ง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ ๘๐ คน ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่๒/๒๕๕๗ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบถึงเรื่องสืบเนื่องในการจัดการประชุมสัมมนาวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ผ่านมา และการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และการรายงานผลการดำเนินงานโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อช่วยเหลือเกษตร รวมถึงได้รับทราบถึงการดำเนินงานด้านการบริหาร และประชาสัมพันธ์ ด้านวิชาการ ด้านการขยายผล ของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี ๒๕๕๘ พร้อมกันนี้ที่ประชุมจะได้พิจารณาถึงการเตรียมการการรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๐) รวมถึงจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพระหว่าง กฟผ และสำนักงาน กปร
ในการนี้ที่ประชุมจะได้พิจารณาถึง การเตรียมการรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. 2557-2560) ในภาคการเกษตรและชนบท สืบเนื่องมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานตาง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. 2557-2560) ขึ้น โดยกำหนดยุทธศาสตร์ จำนวน 7 ยุทธศาสตร์พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท โดยสำนักงาน กปร. เป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นจึงได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อให้การดำเนินงานบังเกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จำนวน 6 กลยุทธ์ คือ 1) การสร้างความเข้าใจต่อทัศนคติ แนวคิด หลักการ แนวทางการดำเนินงาน 2) การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เป้าหมาย คู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ระบบติดตามสนับสนุนและการจัดการความรู้ 3) การสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับจังหวัด 4) การสนับสนุนการปรับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและวัฒนธรรม 5) การบูรณาการการสั่งการและการทำงานร่วมกันของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา พัฒนาพื้นที่ตามความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ 6) สนับสนุนบทบาทมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการวิจัยและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่โดยใช้ความรู้ ในการขับเคลื่อน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล โดยใช้แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนคือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area approach) ดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ยึดหลักการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคนโดยใช้แนวพระราชดำริระเบิดจากข้างใน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสาเหตุของปัญหา และหาทางแก้ไขด้วยตนเอง โดยสร้างเวทีการพูดคุยบนฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น รายได้ รายจ่าย การผลิต ทรัพยากรน้ำ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนชุมชนต่อไป และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขา เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ วิทยากร เอกสารเผยแพร่ แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ เตรียมแปลงสาธิต เช่น แปลงเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งในลักษณะเกษตรกรรายบุคคล เกษตรแบบกลุ่มหรือชุมชน และเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งเตรียมการฝึกอบรมการขยายผลและการติดตามผลด้วย