กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ของธนาคารที่ระดับ “A” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพทางการตลาดในระดับปานกลางของธนาคาร ตลอดจนตัวเลขทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น และการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารคือ ING Bank N.V. (ING Bank) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรที่ยังอ่อนแอของธนาคารและสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะลดลงก็ตาม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายว่าสถานะทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อไปในระยะกลาง ในขณะที่การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงของธนาคารดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่พื้นฐานทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ING Bank เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ปี 2550 โดย ณ เดือนเมษายน 2557 มีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคาร (รวมกับ ING Support Holding) 30% ในขณะที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายมีสัดส่วนการถือหุ้น 26% ในฐานะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ ING Bank มีบทบาทสำคัญในการบริหารธนาคาร อีกทั้งยังได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงและจุดแข็งด้านการบริการลูกค้ารายย่อยของ ING Bank มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับธนาคารอีกด้วย
ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 7 ณ เดือนมิถุนายน 2557 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 5.0% และเงินรับฝาก 5.6% การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารในระยะหลายปีมานี้มุ่งเน้นที่การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสัดส่วนของสินเชื่อดังกล่าวต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 27% ณ สิ้นปี 2553 มาเป็น 37% ณ เดือนมิถุนายน 2557 โดยธนาคารมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้ถึงระดับ 50% ภายในระยะเวลา 5 ปี แม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่ดี แต่การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพสินทรัพย์ได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอ ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยทั่วไปมักมีความอ่อนไหวต่อปัญหาสภาพเศรษฐกิจมากกว่า
ธนาคารพยายามแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งโดยการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการตัดจำหน่ายหนี้เสีย ส่งผลให้ปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงจาก 36 พันล้านบาท (9.9% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2553 เป็น 20.8 พันล้านบาท (4.1%) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงจาก 53% ของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นปี 2553 มาเป็น 23% ณ เดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงถึง 2.1 เท่าของเกณฑ์การตั้งสำรองขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2557 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.8 เท่า ด้วยปริมาณการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่เล็กน้อย
ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำไรก่อนค่าใช้จ่ายตั้งสำรองและภาษีเติบโตขึ้นเป็น 14.7 พันล้านบาทในปี 2556 เทียบกับ 4.9 พันล้านบาทในปี 2553 การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารอยู่บ้าง กล่าวคือ กำไรก่อนค่าใช่จ่ายการตั้งสำรองและภาษีในครึ่งแรกของปี 2557 ลดลงเหลือ 6.6 พันล้านบาท เทียบกับ 7.2 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2556 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการลดลงดังกล่าวเป็นการชะลอตัวชั่วคราวซึ่งน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ตามสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557
แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะดีขึ้นอย่างมากในระยะหลังนี้ แต่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.18% ในปี 2555 และ 0.78% ในปี 2556 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.39% ในปี 2555 และ 1.54% ในปี 2556 ทั้งนี้ ในปี 2555 และ 2556 ธนาคารมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษซึ่งมีผลทำให้กำไรสุทธิลดลง แต่แม้ภายหลังการปรับผลกระทบดังกล่าวแล้ว ธนาคารก็จะยังคงมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่เช่นเดิม สำหรับครึ่งแรกของปี 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ 0.53% และ 0.63% ตามลำดับ ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมแม้ว่าในช่วงดังกล่าวธนาคารมีการรับรู้ผลกำไรพิเศษจำนวน 862 ล้านบาท (เทียบกับยอดกำไรก่อนภาษี 5.1 พันล้านบาท) ที่เกิดจากรายการที่เกี่ยวข้องกับการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีมาแต่เดิมและการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งก็ตาม
ในส่วนของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนให้มีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้นโดยมีฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ 89% เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับเกือบ 100% ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 94% ณ เดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ธนาคารปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่ฐานเงินฝากของธนาคารยังคงเติบโตตามแผน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวธนาคารจะสามารถใช้ฐานเงินฝากดังกล่าวในการขยายสินเชื่อได้ต่อไป
ธนาคารมีฐานเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 10.7% มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง 10.7% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 15.4% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.5% 6.0% และ 8.5% ตามลำดับ อยู่พอสมควร
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TMB19NA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
TMB204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable