กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศข.4 เปิดเผยผลศึกษาการใช้เครื่องจักรกลเกษตร กรณีปลูกอ้อยโรงงานระหว่างการใช้แรงงานคน และการใช้รถตัดอ้อย ในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางได้แก่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปีการเพาะปลูก 55/56 ระบุ การใช้รถตัดอ้อยกรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเองมีต้นทุนรวมสูงสุด และการใช้แรงงานคนมีกำไรสุทธิมากสุด
นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก) เปิดเผยถึงผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร กรณี: รถตัดอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนระหว่างการตัดอ้อยโรงงานจากการใช้แรงงานคน การใช้รถตัดอ้อยกรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเอง และกรณีจ้างรถตัดอ้อย โดยศึกษาจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงาน 3 รูปแบบ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปีการเพาะปลูก 2555/56 พบว่า การปลูกอ้อยโรงงานโดยใช้รถตัดอ้อย กรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเองมีต้นทุนรวมสูงที่สุด คือ 13,406 บาท/ไร่ รองลงมา คือ กรณีจ้างรถตัดอ้อย 11,837 บาท/ไร่ และ กรณีใช้แรงงานคน 11,199 บาท/ไร่ ตามลำดับ สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยพบว่า ราคาผลผลิตเฉลี่ย และรายได้ทั้งหมด ของทั้ง 3 รูปแบบ มีความใกล้เคียงกัน แต่ในด้านกำไรสุทธิ การใช้แรงงานคนมีกำไรสุทธิเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 3,377 บาท/ไร่ รองลงมาคือ จ้างรถตัดอ้อยเฉลี่ย 2,913 บาท/ไร่ และเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเฉลี่ย 1,551 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยผลการศึกษา แต่ละกรณี พบว่า
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว จะมีการเผาใบอ้อยก่อนตัด คิดเป็นร้อยละ 40.58 เนื่องจากแรงงานปฏิเสธการตัดอ้อยสด เพราะตัดง่ายและรวดเร็ว ทำให้ได้ค่าตอบแทนสูงกว่าอ้อยสด โดยความหวานเฉลี่ย 13.07 ซีซี อเปรียบ คือ สามารถตัดอ้อยได้ทุกสภาพพื้นที่ ไม่มีต้นทุนในการปรับพื้นที่ให้เรียบ แต่มีข้อเสียเปรียบ คือ ขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย เสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหารและรับส่งคนงาน นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบปัญหาคนงานไม่มาตัดอ้อยตามที่ตกลงกันไว้ และส่วนใหญ่จะปฏิเสธการตัดอ้อยสด ทำให้สูญเสียน้ำหนัก ค่าความหวาน เกิดมลพิษ และความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง อีกทั้ง ยังถูกโรงงานน้ำตาลหักเงินค่าอ้อยจากราคาอ้อยขั้นต้น 20 บาท/ตัน
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว กรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อย ซึ่งเกษตรกรไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนตัด โดยความหวานเฉลี่ย 12.88 ซีซีเอส มีข้อได้เปรียบ คือ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวดเร็ว สะดวกสบาย ได้อ้อยสดที่มีค่าความหวานและมีคุณภาพ ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล เข้าโรงงานได้ทันที และได้เงินเพิ่ม 40 บาท/ตัน จากการขายอ้อยสด ส่วนข้อเสียเปรียบ คือ รถตัดอ้อยมีราคาสูง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ต้องมีการปรับพื้นที่ให้เรียบ และต้องปลูกอ้อยให้แต่ละแถวห่างกันอย่างน้อย 150 ซม. นอกจากนี้ รถตัดอ้อยไม่สามารถใช้กับอ้อยล้มได้ ทำให้อ้อยได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง และต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ จึงจะทำให้คุ้มทุน
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงานที่ใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว กรณีจ้างรถตัดอ้อย เกษตรกรไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนตัด มีค่าความหวานเฉลี่ย 13.37 ซีซีเอส เกษตรกรมีความสนใจใช้รถตัดอ้อย เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ได้อ้อยสดทำให้ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล และลดปัญหาการหาแรงงาน มีข้อได้เปรียบ คือ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวดเร็ว สะดวกสบาย ได้อ้อยสดที่มีค่าความหวานและคุณภาพ ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล เข้าโรงงานได้ทันที และได้เงินเพิ่ม 40 บาท/ตัน จากการขายอ้อยสด และข้อเสียเปรียบ คือ ผู้รับจ้างตัดอ้อยจะรับตัดอ้อยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปรับให้เรียบ และต้องปลูกอ้อยให้แต่ละแถวห่างกันอย่างน้อย 150 ซม. นอกจากนี้ รถตัดอ้อยไม่สามารถใช้กับอ้อยล้มได้ ทำให้อ้อยได้รับความเสียหายและได้ผลผลิตลดลง และต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดมากกว่า 5 ไร่ขึ้นไป ผู้รับจ้างตัดอ้อยจึงจะรับตัดอ้อย
ทั้งนี้ เกษตรกรมีข้อเสนอแนะให้สหกรณ์การเกษตรจัดหารถตัดอ้อยให้เช่าในราคาถูก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว ควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตรถตัดอ้อยในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ารถตัดอ้อย และพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพพื้นที่รวมทั้งสามารถตัดอ้อยล้มได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการปรับพื้นที่ให้เรียบและลดการสูญเสียผลผลิต รวมทั้งควรสนับสนุนให้ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อรถตัดอ้อย ตลอดจนควรให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียของการเผาใบอ้อยและผลดีของการตัดอ้อยสดแก่เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 38 ไร่ ควรใช้แรงงานคนหรือจ้างรถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยวจะลดต้นทุนได้มากกว่าการจัดซื้อรถตัดอ้อยเอง นางราตรี กล่าว