ไทย-เยอรมัน ร่วมสนับสนุนการพัฒนาตลาดเซลล์แสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนในประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 16, 2014 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--GIZ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของเยอรมันร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีให้แก่บริษัทไทยในกิจกรรมซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWi) ให้การสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตลาดเซลล์แสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนในประเทศไทย สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้จำนวน 3000 เมกะวัตต์ภายในปลายปีหน้าแทนที่จะเป็นปี 2564 ตามที่กำหนดไว้เดิม ขณะนี้บริษัทไทยที่ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาและโซลาร์ฟาร์มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเยอรมันจึงให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้บริษัทไทยได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและประสบการณ์ของเยอรมันเพื่อให้การติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีคุณภาพสูง การพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าในช่วงแรกเทคโนโลยีที่ใช้จะต้องสามารถทำได้ตามที่ผู้ประกอบการคาดหวังทั้งในเรื่องของความคงทนและความน่าเชื่อถือ บริษัทผู้ผลิตระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเยอรมันมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่ามีประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีวิศวกรรมโครงการด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในด้านนี้ BMWi จึงได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) ร่วมกันสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจของบริษัทไทยและเยอรมันซึ่งดำเนินงานในภาคเซลล์แสงอาทิตย์ ดังนั้น ในระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา GIZ และ GTCC จึงได้จัดสัปดาห์แห่งการอบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งที่ 1 ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร “สัปดาห์แห่งการอบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งที่ 1 นี้นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของ พพ. เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่บริษัทไทย ดังนั้น ความร่วมมือจาก BMWi จึงมีประโยชน์มากเพราะจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของบริษัทเยอรมันในภาคธุรกิจนี้” นายธรรมยศ ศรีช่วย รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการอบรม วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจำนวน 8 คนร่วมกันจัดการฝึกอบรมวิชาการให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากบริษัทต่างๆ จำนวน 55 คน ตลอดหลักสูตร 3 วัน เนื้อหาในช่วงต่างๆ เน้นเรื่องข้อกำหนดและการออกแบบ การคำนึงถึงด้านคุณภาพของระบบ การตรวจสอบบุคคลที่สาม ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจของโครงการและการจัดหาแหล่งทุน การดูแลรักษา การลงบันทึก การตรวจสอบความผิดพลาด รวมถึงหัวข้ออื่นๆ ในวันที่สาม คณะผู้เข้าร่วมการอบรมได้ไปเยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์พลังงานของ พพ. เพื่อให้เห็นภาพการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า ต่อเนื่องจากสัปดาห์แห่งการอบรม คณะผู้แทนธุรกิจเยอรมันจะเดินทางมาดูงานด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทยตลอดสัปดาห์ จุดเด่นของการดูงานธุรกิจครั้งนี้คือการสัมมนาวิชาการไทย-เยอรมันเรื่อง “การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 150 คนเข้าร่วมงานที่โรงแรมคราวน์ พลาซา บางกอก ลุมพินี พาร์ค เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาตลาดในปัจจุบัน แผนธุรกิจรูปแบบใหม่และความร่วมมือทางเทคโนโลยี “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมันมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาตลาดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยี BMWi สนับสนุนให้บริษัทดังกล่าวแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีดำเนินงานที่ดีให้แก่ประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น” มร. ยาน อิมเมล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) กล่าวย้ำ ต่อจากนี้ บริษัทเยอรมันจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการประชุมย่อยระหว่างบริษัทเยอรมันแต่ละบริษัทกับบริษัทที่สนใจจะดำเนินธุรกิจและโครงการร่วมกัน --------------------------------------------- องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินการทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน ---------------------------------- ในภาพ (จากซ้าย) มร. โทมัส โครเม็ทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ดร. คริสทีเน่ ฟัลเค่น-โกรเสอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นางกุลวรีย์ บูรณะสัจจะวราพร ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดร. ดุสิต เครืองาม ประธาน สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย มร. ยาน อิมเมล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหอการค้าเยอรมัน-ไทย ในงานสัมมนาวิชาการไทย-เยอรมันเรื่อง “การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาตลาด แผนธุรกิจรูปแบบใหม่และความร่วมมือทางเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างสองประเทศในภาคส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ