วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรัง ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากปัญหาขาดแคลนน้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday October 16, 2014 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(14 ต.ค. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,755 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,955 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,711 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,861 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 738 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 695 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 799 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 796 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 6,300 ล้านลูกบาศก์เมตร อนึ่ง ตามที่กรมชลประทาน ได้มีประกาศแจ้งเรื่อง การงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูแล้งปี 2557/2558 ไปแล้ว นั้น เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง ที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไปแล้ว ดังนั้น เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน จึงขอรณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมมือกันงดทำนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อีกทั้ง ยังจะเป็นการจัดสมดุลน้ำ ทำให้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้รองรับการเริ่มต้นทำนาปี 2558 ได้ทันที แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังจะเป็นการพักดิน และตัดวงจรเพลี้ยกระโดดได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง จะมีน้ำเพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มที่มักจะรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งของทุกปีด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ