กรุงเทพ--27 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
ประเทศไทยเตรียมหาข้อสรุปการกำหนดสิทธิและกฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้สูงอายุและเพื่อให้ทันกับปีผู้สูงอายุสากลของทั่วโลกที่จะถึงในปีหน้านี้
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2541 เวลา 09.00 น. ที่ห้องรับรอง 1 - 2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 กทม. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "แนวทางการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้สูงอายุ " โดยมีนายแพทย์ชาติ พิชญางกูร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กล่าวรายงานของการสัมมนาในครั้งนี้ว่า จากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าสัดส่วนผู้สูงอายุมีมากขึ้นปัจจุบันทั้งประเทศมีผู้สูงอายุประมาณ 5 ล้านคน และคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวจากการที่ผู้สูงอายุอยู่ในฐานะของ"ผู้ให้"มามากกว่าครึ่งชีวิตแล้ว จึงสมควรได้รับการตอบสนองในฐานะ"ผู้รับ"จากสังคมบ้าง โดยเฉพาะความชอบธรรมในสิทธิมนุษยชนที่พึงมีทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา ความมั่นคงทางรายได้ สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้เสนอมารวม 7 ด้าน และในด้านที่ 6 ซึ่งเกี่ยวกับด้านกฎหมาย ได้มีการเร่งรัดให้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกประเด็น ด้วยเหตุนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จึงรับเป็นแกนกลางที่จะประสานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จึงจัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น
โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุ จากกระทรวง สาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม ศึกษาธิการ มหาดไทย กลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย องค์กรเอกชนและผู้เกี่ยวข้องรวม 120 คนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลปัญหาของผู้สูงอายุทุกๆด้าน ทั้งนี้จะได้นำมาประมวลเป็นแนวทางในการกำหนดสิทธิและกฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้สูงอายุต่อไป และเพื่อให้สามารถรองรับผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างครอบคลุม ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยมาตราที่ 54 ว่า บุคคลซึ่งอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและตามมาตราที่ 80 รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ แต่ปรากฎว่ายังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดชัดเจนว่าผู้สูงอายุควรมีสิทธิอันพึงได้ที่ภาครัฐจะต้องให้หรือคุ้มครอง คาดว่าการสัมมนาครั้งจะหาข้อยุติได้เป็นรูปธรรม --จบ