กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
“ทวารเทียม” เป็นวิธีการขับถ่ายอุจจาระผ่านทางหน้าท้องแทนทวารหนักในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่ลำไส้ เช่น การบาดเจ็บบริเวณลำไส้ หรือโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น ผู้ป่วยจึงมักมีความเครียดและวิตกกังวลทั้งเกี่ยวกับโรค รวมถึงต้องมีการปรับตัวกับปัญหาภาพลักษณ์ในการที่จะต้องขับถ่ายอุจจาระผ่านทางหน้าท้อง ดังนั้นผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงควรมีความเข้าใจในเรื่องทวารเทียม ตลอดจนการดูแลทวารเทียมอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ความไม่สบายใจหรือมีความอับอายได้ ซึ่งหากผู้ดูแลไม่มีความรู้และไม่มีทักษะในการดูแลทวารเทียมและการเปลี่ยนถุงรองรับอุจจาระ อาจทำให้การดูแลผู้ป่วยไม่ถูกต้อง หุ่นจำลองทวารเทียมจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาและฝึกทักษะการดูแลและทำความสะอาดทวารเทียมให้แก่ผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ ในโรงพยาบาลและสถานศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่จะมีหุ่นจำลองทวารเทียมเพื่อช่วยในการฝึกการดูแลทวารเทียม อย่างไรก็ตาม หุ่นจำลองทวารเทียมปัจจุบันเป็นแบบแสดงเพียงลักษณะภายนอกและไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการทำงานหรือกลไกการขับถ่ายอุจจาระผ่านทางทวารเทียมทางหน้าท้องได้ จึงไม่สามารถใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการฝึกทักษะการดูแลและการทำความสะอาดทวารเทียมสำหรับนักศึกษา พยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ประดิษฐ์ “หุ่นจำลองทวารเทียม (Colostomy Model)” ที่มีลักษณะเสมือนทวารเทียมของผู้ป่วยจริง มาใช้ในการฝึกฝนทักษะการทำความสะอาดและการเปลี่ยนถุงรองรับของเสียสำหรับนักศึกษาพยาบาล พยาบาล ตัวผู้ป่วยกรณีที่ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนด้วยตนเอง และผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อให้มีความรู้และเกิดความมั่นใจในการดูแลทวารเทียมได้อย่างถูกต้อง โดยหุ่นจำลองทวารเทียมผลิตจากน้ำยางพาราที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ ทำให้มีราคาไม่สูง ประมาณ 200-300 บาทเท่านั้น และมีความทนทาน
ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะผู้ประดิษฐ์ กล่าวว่า หุ่นจำลองทวารเทียมนี้จะมีความพิเศษจากหุ่นจำลองทวารเทียมเดิมตรงที่ลักษณะของทวารเทียมจะมีลักษณะ สี และความยืดหยุ่นคล้ายลำไส้ที่นำมาเปิดเป็นทวารเทียม รวมทั้งสามารถแสดงกลไกการขับถ่ายได้เสมือนจริงในมนุษย์ โดยเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาเรียนการสอนของนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลโดยใช้สิ่งประดิษฐ์เสมือนจริงเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ทำให้นักศึกษา รวมทั้ง พยาบาล ผู้ป่วย พร้อมทั้งญาติและผู้ดูแล มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องทวารเทียม การขับถ่ายอุจจาระออกทางทวารเทียม การทำความสะอาดทวารเทียม การเปลี่ยนถุงรองรับอุจจาระ
“การฝึกฝนเรื่องการเผชิญกับสถานการณ์เสมือนจริงโดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่ต้องถ่ายอุจจาระผ่านทางทวารเทียมบ่อยๆ จะช่วยให้นักศึกษาลักสูตรพยาบาล ตลอดจนญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมีความคุ้นชินกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่แสดงสีหน้าตกใจ รังเกียจหรือหวาดกลัวต่อหน้าผู้ป่วย จะช่วยลดความวิตกกังวลหรือความอายของผู้ป่วยได้ ทั้งยังเป็นการช่วยให้กำลังใจสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย โดยการเอาใจใส่ให้ความรู้เพื่อให้เกิดทักษะที่ดีในการดูแลทำความสะอาดทวารเทียมตลอดจนการเปลี่ยนและเทถุงรองรับอุจจาระได้ด้วยตนเอง เพื่อใช้ให้ผู้ป่วยคงไว้ซึ่งความมีคุณค่าในตนเองภายใต้พยาธิสภาพโรคของตนและกลับไปดำรงชีวิตประจำวันกับครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข” ผศ.จิณพิชญ์ชา กล่าว
ซึ่งผลงานหุ่นจำลองทวารเทียมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจาก Award Committee Chair of 2014 Taipei International Invention Show & Technomart และรางวัล Honor of Invention จาก World Invention Intellectual Property Association (WIIPA) และรางวัล Special Award จาก Korea Invention Association (KIA) มาแล้ว
สถานพยาบาลและผู้สนใจสามารถติดต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการศึกษาและ ฝึกปฏิบัติได้ โทร 029869213-6 ต่อ 7316-8, 7331 หรือ อีเมล์ j_mamom@hotmail.com
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โทร 02-613-3030, 02-564-4440 ต่อ 1117-8
อีเมล : pr.tu@hotmail.com
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร 02-252-9871 อีเมล : hongsinunt.s@abm.co.th