กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--โฟร์ พี.แอดส์
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำลง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดหมอกลงจัดในบางพื้นที่ เช่น บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน บริเวณหุบเขา เป็นต้น สภาพอากาศในช่วงนี้มีความชื้นต่ำ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่า ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหลังการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร ในหลายพื้นที่มีการจุดไฟเผาตอซังข้าวและหญ้าริมทาง ทำให้เกิดควันไฟ ซึ่งทั้งหมอกและควันไฟที่เกิดขึ้น อาจบดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ง่าย
จากข้อมูลอุบัติเหตุในสภาพภูมิอากาศมีหมอกบนทางหลวง ปี 2551–2555 (ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม) พบว่า ประเทศไทยมีอุบัติเหตุจากสภาพภูมิอากาศที่มีหมอกเฉลี่ย 100 ครั้ง/ปี มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 คน/ปี และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 16 คน/ปี เพศชายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 1.5 เท่า จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการขับขี่รถในช่วงที่มีหมอกลงจัด ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางด้วย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า การเดินทางในช่วงฤดูหนาว ถ้าไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ในกรณีที่หมอกลงจัดหรือมีควันไฟมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าเนื่องจากทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี หรือประชาชนอาจจะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน เพื่อให้หมอกควันจางลง จนสามารถขับขี่ได้สะดวกและมองเห็นผิวถนนอย่างชัดเจนขึ้น แต่หากจำเป็นต้องขับขี่รถยนต์ต้องมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวัง ดังนี้ ช่วงก่อนออกเดินทาง 1.) ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศก่อนออกเดินทางอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงเวลาที่มีหมอกจัด 2.) ตรวจสอบอุปกรณ์ทำความสะอาดกระจกให้พร้อมใช้งาน ทั้งอุปกรณ์ที่ปัดน้ำฝน ใบปัดน้ำฝน อุปกรณ์ไล่ฝ้า พร้อมเติมน้ำในกระปุกฉีดน้ำ สำหรับเช็ดทำความสะอาดกระจก จัดเตรียมผ้าแห้งไว้เช็ดกระจกที่ละอองฝ้าเกาะ และ 3.) หมั่นตรวจสอบสัญญาณไฟให้ส่องสว่างได้ทุกดวง โดยเฉพาะไฟตัดหมอกที่ต้องเปิดใช้ในช่วงหมอกลงจัด
ที่สำคัญช่วงการขับขี่ขณะที่มีหมอกและควันไฟปกคลุมถนน ควรปฏิบัติดังนี้ 1.)ควรเปิดใช้สัญญาณไฟหน้ารถและไฟตัดหมอก เมื่อหมอกลงจัดปกคลุมเส้นทาง และควรปิดไฟเมื่อมองเห็นเส้นทางชัดเจนแล้ว 2.)ไม่ควรเปิดไฟสูง เพราะทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว รวมถึงไม่เปิดใช้ไฟฉุกเฉิน เพราะจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ร่วมเส้นทางคิดว่ารถจอด 3.)ควรขับรถให้ช้ากว่าปกติ เพราะสภาพถนนที่มีหมอกปกคลุม และผิวถนนยังลื่นกว่าปกติ จึงต้องใช้ระยะทางในการเบรกมากขึ้น 4.)ไม่ขับรถชิดท้ายรถคันหน้ามากเกินไป เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มระยะในการเบรก 5.)ไม่เปลี่ยนช่องทางกะทันหันหรือแซงรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด ไม่ขับรถคร่อมช่องทางจราจร ไม่ขับชิดขอบถนนหรือทับเส้นกลางถนน 6.)กรณีหยุดรถเพื่อรอเลี้ยวหรือขับรถผ่านทางแยก ควรเหยียบแป้นเบรกค้างไว้ เพื่อให้ไฟเบรกเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาทราบ 7.)กรณีละอองฝ้าเกาะกระจก ให้ปรับอุณหภูมิภายในห้องโดยสารรถ ให้ต่ำกว่านอกรถ โดยเพิ่มความเย็นของเครื่องปรับอากาศ หรือลดกระจกหน้าต่างรถลงเล็กน้อย ใช้อุปกรณ์ปัดน้ำฝนทำความสะอาดกระจกหน้ารถ 8.)กรณีละอองฝ้า เกาะกระจกหลังให้เปิดปุ่มไล่ฝ้าจะช่วยไล่และป้องกันมิให้เกิดละอองฝ้า 9.)กรณีฝ้าเกาะกระจกมองข้างและกระจกหน้าต่างรถ ผู้ขับขี่ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัยแล้วนำผ้าแห้งเช็ดกระจก และ10.)กรณีทัศนวิสัยแย่มาก ควรจอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่พักรถริมทาง รอจนกว่าทัศนวิสัยดีขึ้นจึงค่อยขับรถต่อไป
“ส่วนกรณีที่รถเสีย ควรหาจุดจอดรถที่ปลอดภัยไม่ได้ให้จอดรถชิดริมขอบทางให้มากที่สุดเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายเตือนหรือวัสดุอื่นๆ ที่สะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถ ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่รายอื่นมองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญต้องจดจำหรือบันทึกหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานที่สามารถติดต่อช่วยเหลือได้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน, 1784 สายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, 191 ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขับขี่ช่วงหมอกลงจัด สามารถติดต่อได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค 02 590 3967 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวทิ้งท้าย