กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวทีการประชุมอาเซม ที่อิตาลี และแนวโน้มฐานสนับสนุนต่อรัฐบาลหลังไปอาเซม กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 608 ชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
ผลการสำรวจเมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่มีต่อการติดตามข่าวการเดินทางของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ASEM ที่ประเทศอิตาลี พบว่า ร้อยละ 73.8 ระบุติดตาม ในขณะที่ร้อยละ 26.2 ระบุไม่ได้ติดตาม ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพบว่า ร้อยละ 61.8 รู้สึกภูมิใจ ร้อยละ 30.3 ระบุค่อนข้างภูมิใจ ร้อยละ 7.6 ระบุเฉยๆและร้อยละ 0.3 ระบุไม่ค่อยภูมิใจถึงไม่ภูมิใจเลย
เมื่อสอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงเรื่องที่ต้องการให้กลุ่มประเทศสมาชิก ASEM สานต่อ ภายหลังการประชุมในครั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 71.4 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 64.6 ระบุความร่วมมือทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ ร้อยละ 62.7 ปัญหาโรคระบาดและระบบสาธารณสุข ร้อยละ 54.8 ระบุปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ร้อยละ 44.4 ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 40.2 ระบุปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 37.6 ปัญหาผู้ลี้ภัย ร้อยละ 35.4 ระบุปัญหาพื้นที่ตามแนวชายแดน และร้อยละ 27.2 ระบุการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีระหว่างกัน ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เรื่องที่แกนนำชุมชนอยากเห็นประเทศไทยกับสมาชิก อาเซม ลงทุนร่วมกัน เมื่อตอบได้มากกว่า 1 ข้อ กลับพบว่า อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 75.5 ระบุอยากให้มีการลงทุนด้านการศึกษา ร่วมกัน รองลงมาคือร้อยละ 57.5 ระบุอยากให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ร้อยละ 50.5 ระบุการลงทุนด้านพลังงาน ร้อยละ 47.8 ระบุด้านการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ร้อยละ 46.5 ระบุการลงทุนด้านสุขภาพ ร้อยละ 42.1 ระบุด้านทรัพยากรธรรมชาติ ร้อยละ 38.4 ระบุการลงทุนด้านอาหาร
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อสอบถามถึงผลที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปร่วมประชุม ASEM ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นพบว่า ร้อยละ 70.4 ระบุทำให้ประเทศไทยดีขึ้นในสายตามชาวโลก ร้อยละ 27.2 ระบุ ดีเหมือนเดิม ร้อยละ 2.2 ระบุแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 0.2 ระบุแย่ลง นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงความมั่นใจในความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศไทยนั้น พบว่า ร้อยละ 87.5 ระบุมั่นใจ ในขณะที่ร้อยละ 12.5 ระบุไม่มั่นใจ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงจุดยืนทางการเมืองของแกนนำชุมชนต่อการสนับสนุน คสช. และรัฐบาล ภายหลังจากได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงบทบาทในเวทีการประชุมอาเซม ในฐานะผู้นำประเทศไทย พบว่า ฐานสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อ คสช. และรัฐบาล เคยตกลงไปอยู่ที่ร้อยละ 77.2 ในการสำรวจปลายเดือนกันยายน และขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 89.0 ในช่วงต้นเดือนตุลาคมและขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 93.3 ในการสำรวจครั้งนี้หลังจากได้เห็นบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแสดงบทบาทผู้นำประเทศไทยในเวทีต่างประเทศ