กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ปัญหาการขาดดุลการค้าของไทยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนขับเคลื่อนการเจริญเติบโตและการพัฒนาของประเทศ จึงเกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ต่อประชาชนทุกคน ดังนั้น
การรักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้าเดิมอย่างอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จะต้องทำควบคู่ไปกับการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและหนึ่งในตลาดใหม่ที่น่าสนใจ คือ ตุรกี เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก และมีอาณาเขตที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับตุรกี พบว่า มูลค่าที่ไทยส่งออกไปยังตุรกีในปี 2556 เท่ากับ
1.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปตุรกี ได้แก่ เครื่องจักรกล บอยเลอร์ รถยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก และเส้นใยสั้นประดิษฐ์ ทั้งนี้ ไทยนำเข้าจากตุรกีทั้งหมด 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่นำเข้าจากตุรกี ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกล
บอยเลอร์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากการโม่สี จำพวกธัญพืช มอลต์ อินูลิน เป็นต้น และเครื่องนุ่งห่มที่ไม่ได้ถักด้วยวิธีการนิต
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบจากการจัดทำความตกลงระหว่างไทยกับตุรกีในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม สำนักทวิภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาใน “โครงการศึกษาเรื่อง การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับตุรกี” เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ อันนำไปสู่ข้อเสนอแนะการกำหนดท่าทีและขอบเขตการเจรจา รวมทั้งกลยุทธ์ในการเจรจาและแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับปรับตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเนื่องจากผู้ประกอบการไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ภาคี ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความเห็นจากสาธารณชน โดยการสัมมนารับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้เป็นการต่อยอดงานสัมมนา 3 ครั้งที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์
เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี ในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม แนวทาง/นโยบาย โอกาสและอุปสรรค ในการดำเนินธุรกิจ การค้าสินค้าและบริการ/การลงทุนในระหว่างไทย-ตุรกี และเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นในด้านการค้าสินค้าและบริการ การลงทุนและการประกอบธุรกิจ โดยรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ระหว่างไทยและตุรกี
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยและตุรกี รวมทั้งประสบการณ์การทำธุรกิจ จากผู้ประกอบการ/ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำธุรกิจในตลาดตุรกีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและสร้างผลประโยชน์จากการร่วมกำหนดทิศทางของความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี ในอนาคต
และยังมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่กรมเจรจาฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคต่างๆ
รวมทั้งการสร้างเครือข่ายหรือความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการบุกตลาดใหม่ด้วยกันและสามารถต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต
ระยะเวลาและสถานที่
วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน 2557 เวลา 08.30 - 15.30 น.
ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
*** ลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
**** ลงทะเบียนได้ที่ คุณวรรณพงษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง 02-357-3490 ต่อ 219 // หรือส่งชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง องค์กร และเบอร์โทรศัพท์ มาที่ wannaphong@fispri.org