กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ประชาสัมพันธ์ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ดร.พัชรี ครองกิจศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกนโยบายมอบหมายให้ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ เพราะที่ผ่านมาเด็กเรียนต่อสายอาชีวะน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่การแก้ปัญหานี้กว่าจะสัมฤทธิ์ผลคงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น การที่ คสช. หยิบยกมาเป็นประเด็นถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กไทยในยุคนี้จะได้มีมุมมองในการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งหลักสูตรของคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เราเน้นการลงมือปฏิบัติ ตามนโยบาย “บัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริง และเรามีผลงานเชิงประจักษ์ ที่นับเป็นตัวบ่งชี้ว่านักศึกษาของเราสามารถทำงานได้จริง จนได้รับรางวัลจากหน่วยงานระดับประเทศ อาทิ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ฯลฯ
มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ ที่เติบโตจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เน้นผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น ความมีชื่อเสียงคงจะไม่เท่ากับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อย่างไรก็ดีหากเอ่ยถึง “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” สังคมไทยคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เป็นสถาบันเก่าแก่ของรัฐที่ผลิตนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. เพื่อป้อนตลาดแรงงาน ดังนั้นความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติของเรานั้นได้ถูกสั่งสมมาเนิ่นนานคู่กับตลาดแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศ และแม้ว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ แต่เรายังคงผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบเช่นเดิม
กิจกรรม Open house ที่จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่เราต้องการประชาสัมพันธ์ที่เรียนใกล้บ้าน ประหยัดค่าใช้จ่าย บุตรหลานท่านจะได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งลดปัญหาการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ และมทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ยังตอบรับเข้าสู่ AEC และมีการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งเป็นระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งรับรองหลักสูตรโดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีภารกิจในการจัดและส่งเสริมการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ และหลักสูตรของเรามีความเทียบเคียงค่อนข้างมาก
ดร.พัชรี กล่าวต่อว่า ข้อดีของการมาเรียนที่คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คือ เรามีนักศึกษาวิศวะและบริหารธุรกิจที่เรียนระดับปริญญาตรี เรามีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์และสื่อการสอนที่พร้อม เมื่อเด็กมาเรียน ปวส. ก็สามารถใช้เครื่องมือและสื่อดังกล่าวได้เลย และอาจารย์ที่สอนก็เรียนจบเฉพาะทางทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของคณะในการสร้างบุคลากรที่มีความเข้มแข็งทางด้านงานวิชาการ นอกจากนี้ยังกำหนดเป็นนโยบายให้อาจารย์เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเอง (Human Resoure Center,HR) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
กิจกรรม Open house เป็นการบริการวิชาการรูปแบบใหม่ เป็นการทำงานเชิงรุก เราออกไปหากลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้เน้นว่าจะได้เด็กมาเรียนเยอะ เพราะรับเด็กแค่ห้องละ 30-35 คน เท่านั้น เราต้องการเน้นเรื่องคุณภาพ คือ เด็ก 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นการควบคุมตามมาตรฐานวิชาชีพ ทำให้เราผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ จากสถิติบัณฑิตที่ได้ทำงานและประกอบอาชีพอิสระภายใน 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 91.02 และได้รับเงินเดือนตามมาตรฐาน และคณะต้องการประชาสัมพันธ์และให้บริการทางการศึกษา ให้ข้อมูล ความรู้ สร้างเครือข่ายโรงเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ทีมงานได้ยกผลงานที่เกิดขึ้นจากมือนักศึกษาในทุกสาขาวิชาไปจัดแสดงผ่านฐานกิจกรรมฐานละ 20 นาที อาทิเช่น เทคนิคการดูดาว จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การประดิษฐ์หุ่นยนต์เคลื่อนที่โดยการควบคุมผ่านระบบแอนดรอย (Android) จากสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ระบบการขนส่งสินค้าในรูปแบบต่างๆ ของสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นต้น
ในส่วนของ Open house เชิงรับ เราก็ยังเปิดรับโรงเรียนที่ต้องการจะเข้ามาศึกษาดูงาน เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งปี ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น แต่เรายังเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมศึกษาเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังให้นักเรียนค้นพบตัวเอง ค้นพบสิ่งที่ชอบ โดยมีครูแนะนำนักเรียน ผู้ปกครองและชาวบ้าน พร้อมให้ข้อมูลคณะเรา นับเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ดร.พัชรี กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดกิจกรรมพบว่าอาจารย์และนักศึกษาที่ได้ทำกิจกรรม Open house นอกบ้าน มีความกระตือรือร้นและมีความสุข นับเป็นกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็ง สร้างความสามัคคีของคนในองค์กร นับเป็นการรวมกลุ่มอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากทุกสาขาวิชามาทำงานดีๆ ร่วมกัน ดังนั้นกิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรของคณะฯ ด้วย