กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. เข้าร่วมเวทีการประชุมการจัดการภัยพิบัติอาเซียน เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนา ASEAN Disaster Medicine พร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินในยามที่เกิดภัยพิบัติให้กับประเทศอาเซียน เผยไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่พร้อมออกปฏิบัติการรวดเร็วภายใน 6-24 ชม.
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เข้าร่วมประชุมโครงการ ASEAN Japan Disaster Medicine Network ซึ่งจัดขึ้นโดย JICA (Japan International Cooperation Agency) , JDR (Japan Disaster Relief team) และ Japan DMAT ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการพิบัติให้เป็นต้นแบบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยพิบัติมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแต่ละครั้งมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ในช่วงปี 2541- 2554 ภัยธรรมชาติได้คร่าชีวิตคนในทวีปไปมากกว่า 250,000 คน และมีความเสียหายคิดเป็นร้อยละ 61.6 ของความเสียหายจากภัยพิบัติทั่วโลก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภูมิภาคอาเซียนจะต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยการประชุมที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้นั้น เป็นการประชุมต่อเนื่องจากกรณีที่ประเทศไทยและกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้ทำความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response, AADMER) เมื่อปี 2548 โดยข้อตกลงนี้ได้ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทุกประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมตามความตกลงนี้ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศของตนเองให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2541-2551 ที่ผ่านมา JICA ได้จัดให้มีการอบรมด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 207 คนจากทั้งหมด 52 ประเทศ เพื่อเรียนรู้เรื่องระบบการเตรียมความพร้อมและจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์ภัยพิบัติ และระบบบัญชาการเหตุการณ์ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งภายหลังการอบรม ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่สามารถจัดตั้ง Disaster Medical Assistant Team (DMAT) หรือทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่พร้อมออกปฏิบัติการรวดเร็วภายใน 6-24 ชม. หลังเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ และตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยจำนวนมากถึง 100-250 รายต่อวัน
อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งนี้ได้มีแนวทางที่จะพัฒนาระบบ Emergency Disaster Medicine หรือการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินในยามที่เกิดภัยพิบัติในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มเติม อาทิ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนา ASEAN Disaster Medicine พร้อมทั้งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมในเรื่อง Disaster Medicine บางส่วนให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งของการเตรียมการรับมือภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย