กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
เคล็ดลับป้องกันโรคตาจากการใช้อุปกรณ์ไอที
โดย พญ.ชลธิชา จารุมาลัย
จักษุแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท
ปัจจุบันอุปกรณ์ไอที เข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์สำนักงาน โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ ล้วนเป็นเครื่องมือที่เรามีความจำเป็นต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการทำงาน ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสาร หรือแม้กระทั่งใช้เป็นกิจกรรมผ่อนคลายสร้างความเพลิดเพลิน โดยที่ลืมนึกไปว่าการใช้สายตาจ้องมองหน้าจอจากอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อดวงตาโดยไม่รู้ตัว
พญ.ชลธิชา จารุมาลัย จักษุแพทย์ รพ.ปิยะเวท ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันมีคนไข้มาปรึกษาหมอเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพตาค่อนข้างมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสายตาจากสาเหตุของการใช้พวกอุปกรณ์สื่อสารเป็นประจำ อาการของคนไข้ที่พบบ่อย ๆ เช่น อาการปวดตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ซึ่งพอซักประวัติคนไข้ก็พบว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ บางคนต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมทั้งวันต้องมองทั้ง จอภาพ แป้นพิมพ์ และเอกสารสลับกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการอ่านตัวหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์จะต้องเพ่งมากกว่าปกติ สายตาต้องปรับโฟกัสอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการพักนั้นอาจจะทำให้น้ำไปหล่อเลี้ยงตาไม่พอ อาจทำให้เกิด อาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาแดงได้ ทางที่ดีแนะนำให้พักสายตาทุก ๆ 20 – 30 นาที โดยวิธีการละสายตาจากหน้าจอ หรือการหลับตาพักสายตาเป็นเวลา 3 – 5 นาทีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ แต่ถ้าหากพักสายตาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นอาจใช้ยาหยอดตาชนิดมีน้ำหล่อลี้ยงเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวได้ อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยคือ ปัญหาตามัว หรือการเกิดภาพซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่พอซักประวัติอย่างละเอียดของผู้ที่มีอาการเหล่านี้จะพบว่า เกิดจากการใช้สายตาอยู่หน้าจอเป็นเวลาที่นานมาก ๆ โดยไม่มีพักสายตาเลย เฉลี่ยคือมากกว่า 4 ช.ม. ต่อวัน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า จึงเกิดอาการตาพร่ามัวและเห็นภาพเป็นภาพซ้อนได้
ทั้งนี้คุณหมอยังฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไอที แบบรักษาสุขภาพดวงตาว่า เริ่มแรกควรปรับจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองก่อน สำหรับคนที่มีปัญหาจากการจ้องหรือใช้สายตาอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ไม่ควรอยู่หน้าจอต่อเนื่องนานเกิน 4 ช.ม. โดยไม่ได้พักสายตา รวมทั้งควรจัดสภาพแวดล้อมการวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมในที่บ้านหรือที่ทำงาน คือ ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ โต๊ะ เก้าอี้ สูงพอเหมาะ และระดับของหน้าจอให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 10 – 15 องศา และควรนั่งห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 45 – 70 เซนติเมตร ลดแสงสว่างของหน้าจอลงปรับขนาดตัวหนังสือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป จะได้ไม่ต้องเพ่งสายตามากจนเกินไป ทั้งนี้หากลองทำตามวิธีดังกล่าวแล้วอาการที่เกิดกับดวงตาต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพราะเรามีดวงตาเพียงคู่เดียวการรักษาดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนาน ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
นุชราภรณ์ เลียบไทสง แผนกสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลปิยะเวท
บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) โทร. 02-7326069