กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดมาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง โดยจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งครอบคลุมทั้งในและนอกเขตชลประทาน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพวางระบบแจกจ่ายน้ำเชื่อมโยงในทุกระดับ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 ของประเทศไทย พบว่า ปีนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่สนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง ขยายวงกว้าง และมีระยะเวลายาวนานกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำหนดมาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณน้ำของแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ ประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อวางแผน ให้การช่วยเหลือได้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ พร้อมจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยนำข้อมูลภัยแล้งในรอบ 3 ปี (พ.ศ.2555 – 2557) มาบูรณาการกับข้อมูลของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้งที่ครอบคลุมน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน โดยระบุหมู่บ้านและชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้ง จัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำและแผนการแจกจ่ายน้ำให้เป็นระบบและเชื่อมโยงในทุกระดับ วางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง รวมถึงดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำแยกรายอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ และดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ กักเก็บน้ำให้มากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รณรงค์ให้ประชาชนจัดหาภาชนะ กักเก็บน้ำและซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ พร้อมสำรองน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน โดยร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้ง สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็วและมีตลาดรองรับผลผลิตทดแทนการทำนาปรังหรือ พืชที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะ 26 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้งดทำนาปรัง ขณะที่ 3 จังหวัดลุ่มน้ำปิงและน่านให้งดเลี้ยงปลา ในกระชัง เพื่อป้องกันความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์และปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เน้นการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เพียงพอสำหรับ การใช้งาน สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำน้อยที่สุด