จี้ลูกจ้างโรงงาน ใช้เครื่องป้องกันหู กันหูเสื่อม

ข่าวทั่วไป Thursday May 22, 1997 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 พ.ค.--สำนักงานประกันสังคม
รมช.แรงงานฯ ห่วงลูกจ้าง ชี้นายจ้างควรเพิ่มมาตรการป้องกันและส่งเสริมความปลอดภัย รวมทั้งดูแลด้านสุขภาพอนามัยในการทำงาน
นายพูนสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานประกันสังคมได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยของลูกจ้าง โดย ผศ.พญ.สุนันทา พลปัถพี และคณะจากภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา คณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนวิจัย ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "การพัฒนาระบบวิธีการศึกษาวิจัย โรคประสาทหูเสื่อมจากการประกอบอาชีพ" ซึ่งได้ศึกษาลูกจ้างในโรงงานสิ่งทอจำนวน 107 คน พบว่ามีผู้ที่ประสาทหูเสื่อมถึง 48 คน คิดเป็นร้อยละ 44.8 และ พบว่าระยะเวลาการทำงานมีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของประสาทหู กล่าวคือ คนที่ทำงานมานานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิด ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น และอายุจะมีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของประสาทหู คือ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จะมีโอกาสที่ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น
รมช.แรงงานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวถึงระบบวิธีการตรวจและเกณฑ์การตัดสินระดับการได้ยินที่ถือว่ามีประสาทหูเสื่อมถึง 3 ระดับ คือ
- ระดับค่าเฉลี่ยความดังของเสียงที่ความถี่ 2,000, 3,000, 4000 Hz ตั้งแต่ 30dB ขึ้นไป
- ระดับการได้ยินที่ 4,000 Hz 30 dB ขึ้นไป
- ระดับการได้ยินที่ 6,000 Hz 30 dB ขึ้นไป
ทั้งนี้ผลจากการวิจัยทำให้ทราบถึงระดับอันตรายของเสียงที่มีผลต่อประสาทหู ดังนั้น นายจ้างควรส่งเสริม แนะนำ อบรม ให้ความรู้แก่คนงานถึงประโยชน์ในการใช้เครื่องมือป้องกัน เช่น ที่อุดหู ที่ครอบหู ควรได้มาตรฐาน โรงงานที่ใช้เครื่องจักรรุ่นเก่าที่มีเสียงดังควรปรับปรุงสภาพโรงงานเครื่อง จักรให้ทันสมัย เพื่อช่าวยบรรเทาเสียง และลดเสียงสะท้อนในโรงงานด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ