กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
2 งานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้า 3 รางวัลใหญ่ รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และ Special Award ในงาน 8th International Warsaw Invention Show (IWIS2014) ณ เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อ 14 - 16 ตุลาคม 2557
รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ข้ามสี่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 - 16 ตุลาคม 2557 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งผลงานเข้าร่วมจัดแสดงและประกวด ในงาน 8th International Warsaw Invention Show (IWIS2014) ณ เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ จำนวน 2 ผลงาน คือ เรื่อง New Hybrid Freshwater Catfish Strain for Fish Sausage with Omega-3, 6 and 9. (ปลาหนังลูกผสมสายพันธุ์ใหม่เพื่อวิสาหกิจชุมชนและไส้กรอกปลาโอเมก้า 3,6และ9) ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และเรื่อง New Device for Fixed Time Artificial Insemination in Cattle. ( “P-sync” อุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดแบบพลาสเตอร์ฮอร์โมนติดผิวหนัง) ผลงานของอาจารย์ ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถคว้าได้ถึง 3 รางวัล
ผลการประกวด.
งานวิจัย เรื่อง “P-sync” อุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดแบบพลาสเตอร์ฮอร์โมนติดผิวหนัง ผลงานของอาจารย์ ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ และคณะ ได้รับรางวัลเหรียญทอง ซึ่งเป็นรางวัลเดียวของนักวิจัยของประเทศไทย
เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดสำหรับวัวเนื้อและวัวนม เป็นพลาสเตอร์ฮอร์โมนติดผิวหนังที่บริเวณรอบหาง ปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้าสู่ร่างกายสัตว์ ทำให้สัตว์พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ ใช้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์หรือติดเชื้อบริเวณที่ให้ฮอร์โมน สามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์เหนี่ยวนำการเป็นสัดแบบฝังหูและสอดในช่องคลอด
งานวิจัย เรื่อง ปลาหนังลูกผสมสายพันธุ์ใหม่เพื่อวิสาหกิจชุมชนและไส้กรอกปลาโอเมก้า 3,6และ9 ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน และคณะ ได้รางวัล เหรียญเงิน และ รางวัล Special Award
มีลักษณะเด่นคือ พัฒนาให้เป็นปลาสายพันธุ์ที่โตเร็ว คุณภาพเนื้อดี สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้ง่าย ควบคู่กับการจัดการกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับวิสาหกิจชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมทางการประมงในอนาคตทดแทนสายพันธุ์แท้ที่มีข้อจำกัด โดยการนำมาแปรรูปเป็นไส้กรอกซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในระดับนานาชาติ ไส้กรอกปลามีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิดโอเมก้า 3, 6 และ 9 ในปริมาณ 329, 447 และ 9,565 มก/100 กรัม ตามลำดับ ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานไส้กรอกเป็นอาหารสุขภาพที่มีรสชาติดี ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อจากโปรตีนในเนื้อปลา และยังได้รับไขมันชนิดโอเมก้าที่ช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมอง ป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ ได้อีกด้วย
นี่คือผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่การันตีคุณภาพด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศด้านการเกษตรใน
ระดับนานาชาติ