กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
สถาบันสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สสสร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเวทีเสวนาว่า “เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง นานาทัศนะ ว่าด้วย พรบ. คุ้มครองการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก” เชิญเหล่านักวิชาการพร้อมด้วยบรรดาคุณแม่มาร่วมถกประเด็นดัง
อาจารย์ ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจว่า “ที่คณะรัฐมนตรีไดมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลและควบคุมการทำการตลาดและการโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ก่อนอื่นเลยผมต้องบอกว่าผมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหกเดือนนะครับ และถ้าแม่คนไหนสามารถให้นมลูกได้ก็ควรให้นมลูกนานเท่าที่เป็นไปได้ ให้ยิ่งนานยิ่งดี เพราะนมแม่นั้นดีที่สุด มีประโยชน์ที่สุด อย่างลูกผมนี่เป็นเด็กที่กินนมแม่จนถึงอายุขวบกว่า
แต่ในขณะเดียวกันการนำนมผงไปเทียบกับเหล้า บุหรี่ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะสินค้ามีลักษณะที่ต่างกัน เหล้า บุหรี่นั้นให้โทษ แต่นมผง อาหารเสริมนั้น เค้ามีการวิจัยค้นคว้า ใส่สารอาหารที่เป็นประโยชน์เข้าไปเพื่อให้นมผงมีคุณภาพที่ดี เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาด”
“การทำกฎหมายสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลักใหญ่ใจความ คือ ทารกควรได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเป็นอย่างน้อย และเราต้องสร้างหลักประกันด้วยครับว่า หากทารกจำเป็นต้องได้รับอาหารทดแทนนมแม่ แม่ต้องได้รับข้อมูลเพียงพอ และต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง เหมาะสม เช่น กรณีคุณแม่ที่อาจจะเป็นโรคหรือมีน้ำนมไม่เพียงพอนั้น เค้าต้องการข้อมูลในการตัดสินใจว่าเค้าจะให้อาหารเสริมทดแทนกับลูกอย่างไร หรือพอหกเดือนไปแล้วแม่ต้องการเสริมอาหารให้ลูก เพราะลูกต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังกะสี ธาตุเหล็ก แม่เหล่านี้ต้องการข้อมูลในการตัดสินใจ ดังนั้นเราจะไปปิดหูปิดตาเค้าไม่ได้”
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะไปห้ามถึงขนาดไม่ให้หมอ พยาบาล คนที่มีความรู้พูดอธิบายถึงอาหารทดแทนนมแม่นี่ ทำไม่ได้ครับ ยิ่งไปกันใหญ่ ทีนี้แม่ๆ เหล่านี้ก็ไปหาข้อมูลตามอินเตอร์เน็ต จริงบ้างเท็จบ้าง อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของทารกและเด็กเล็กที่รุนแรงกว่าที่เราจะคาดเดาได้ ผมวอนขอให้ภาครัฐฯ ฟังเสียงรอบข้าง เสียงจากนักวิชาการ เสียงจากสังคม เสียงจากบรรดาคุณแม่ๆ ด้วยครับ” อาจารย์ ดร. สมเดช กล่าวเสริม
ดร.กัญญ์รัชการย์ นิลวรรณ อาจารย์ประจำ คณะคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและคุณแม่ลูกสอง “ดิฉันมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตั้งแต่ยังตั้งครรภ์โดยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เลือกคลอดลูกที่สถานพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อคลอดลูกแล้วดิฉันก็ให้นมแม่กับลูกทั้งสองคนเอง แต่เนื่องจากดิฉันมีน้ำนมค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอ และด้วยหน้าที่การงานที่รัดตัวจึงมีความจำ เป็นต้องเสริมนมผงด้วยอีกทาง ซึ่งก่อนจะให้นมผงนั้นก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูลมาอย่างดี เพราะต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่เมื่อนึกถึงชาวบ้านที่อาจจะมีความรู้น้อย หากเราไปปิดกั้นข้อมูลเหล่านี้ สื่อไม่สามารถเผยแพร่ได้ บุคลากรทางการแพทย์แนะนำไม่ได้ แล้วเกิดฟังจากคนรอบข้างที่ไม่มีความรู้ กลายเป็นป้อนน้ำข้าวลูก ป้อนนมข้นหวานผสมน้ำ หรือแม้กระทั่งป้อนกล้วยครูดทั้งๆ ที่กระเพาะของน้องเค้ายังทำงานไม่ได้ไม่เต็มที่แล้วเกิดอันตรายขึ้นมา ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ”
และในมุมมองของคุณแม่เจ้าของธุรกิจส่วนตัว นางสาวจรัสพร ตันประทุมวงษ์ “ดิฉันมีปัญหาคือ มีน้ำนมไม่เพียงพอจึงต้องพึ่งนมผงเป็นทางเลือกควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะยังไงเราก็เชื่อว่านมแม่นั้นดีที่สุด มีประโยชน์ที่สุด ดังนั้นแม้จะมีนมแม่น้อยก็ยังให้นมแม่ หมั่นปั๊มกระตุ้นทุก 3 ชั่วโมง ขยันเอาลูกเข้าเต้าเพื่อกระตุ้น แต่น้ำนมก็ยังไม่พอ และดิฉันคิดว่าในฐานะคุณแม่ ดิฉันมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนมแม่ นมผง อาหารเสริม ฯลฯ จากบุคลากรทางการแพทย์”
บทสรุปของงานเสวนาวิชาการ นักวิชาการและคุณแม่ๆ วอนรัฐบาล และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรเปิดเวทีการพูดคุย ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ควบคู่กับการส่งเสริมการให้ความรู้กับมารดาเรื่องของประโยชน์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อจะทำให้กฎหมายสามารถปฏิบัติได้จริง และบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิในการรับ
ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการในชีวิต นมผงนั้นไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่สารเสพติด การจะยึดแนวคิดเดียวกับเหล้า บุหรี่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ?
สำหรับสื่อมวลชน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร. 0 2718 1886 ต่อ 150 และ 109