กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ ในปี 2558 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยจังหวัดที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งมีจำนวน 31 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด สระแก้ว เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ หนองคาย ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ระดมสรรพกำลังทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล พร้อมรถบรรทุกเครื่องมืออุปกรณ์ 86 ชุด ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 85 ชุด รถปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 คัน รถบรรทุกน้ำ 93 คัน จุดจ่ายน้ำถาวร 87 แห่ง และมีระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียน ทั่วประเทศที่พร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย 413 แห่ง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนงานโครงการสำคัญที่มีส่วนในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 683 แห่ง งบประมาณ 164 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 700 แห่ง งบประมาณ 753 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 รูปแบบ เพื่อรองรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 300 คนขึ้นไป จำนวน 200 แห่ง และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 100 คน จำนวน 500 แห่ง
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 1,285 แห่ง งบประมาณ 523 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 รูปแบบ เพื่อรองรับพื้นที่ขนาด 100 ไร่ จำนวน 40 แห่ง และพื้นที่ขนาด 30 ไร่ จำนวน 1,245 แห่ง
ซึ่งขณะนี้ทุกโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2557 แล้ว และคาดว่าขั้นตอนการเจาะบ่อ น้ำบาดาล จำนวน 1,321 บ่อ ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 31 จังหวัด จะแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2557 ก่อนเข้าสู่ ช่วงต้นฤดูแล้งของปี 2558 ที่จะมาถึง
“นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 12 แห่ง ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ ทั่วประเทศประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลระบบประปาบาดาลในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 31 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันอาจจะมีระบบประปาไม่เพียงพอ หรือชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้ รวมถึงระบบประปาที่ต้องซ่อมแซมแก้ไข เพื่อจัดทำเป็นแผนงานโครงการและเตรียมนำเสนอ รัฐบาลต่อไป” นายสุวัฒน์กล่าว.