กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติ “SEAMEO Congress” ด้านมูลนิธิสยามกัมมาจลแนะสังคมไทยต้องเปลี่ยนวิธีการคิด - วิธีการฟูมฟักเด็ก ยก "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นเครื่องมือชั้นยอดในการพัฒนาเยาวชน ให้เป็นพลเมืองรุ่นใหม่
การประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติ “SEAMEO Congress” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท โดยความร่วมมือขององค์การซีมีโอ ร่วมกับ บริติช เคานซิล และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เตรียมพร้อมกับการรวมตัวของประชาคมอาเซียน โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน
ไฮไลต์สำคัญประกอบด้วยการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาโดยรัฐมนตรีศึกษาธิการของหลายประเทศ อาทิ บรูไน ดารุสลาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และพม่า และการบรรยายพิเศษของ ศ.ดร. ริชารส์ เดวีส อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวอนซี ถึงประสบการณ์ความสำเร็จจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนในการปฏิรูปการศึกษา : กรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย มูลนิธิสยามกัมมาจลในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาเยาวชนของไทย และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนการจัดการประชุมได้ร่วมนำเสนอวิธีการและประสบการณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิฯ รวมถึงกรณีศึกษา วิธีการ ประสบการณ์ และความสำเร็จในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ในโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน
คุณนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม และที่ปรึกษามูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำถึงบทบาทของมูลนิธิสยามกัมมาจลว่าเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เพื่อเป็นหน่วยงานทำงานเพื่อสังคม ในด้านการพัฒนาเยาวชน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ คือรู้จักตัวเอง มีเป้าหมายชีวิต คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ทำงานร่วมกับคนที่คิดต่างได้ มีความเป็นผู้นำ มีสำนึกความเป็นพลเมือง และมีจิตอาสาใช้ศักยภาพให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำ” มากกว่า “การสั่งสอน”
“เราจึงสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กับโจทย์ปัญหาจริงของชุมชนสังคม หรือ Problem Based Learning แล้ววัดผลความสำเร็จที่พัฒนาการและการเรียนรู้ของเยาวชนเป็นสำคัญ โดยมีการทำงานกับผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก ทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ใจดี ผู้นำชุมชน แกนนำเยาวชน เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน NGOs ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อให้ผู้ใหญ่ในทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชน เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน และมีทักษะในฐานะของผู้อำนวยการเรียนรู้หรือการเป็นครูฝึก อาทิ การตั้งคำถามกระตุ้นและพัฒนากระบวนการคิด การให้กำลังใจ การชี้แนะ และการชวนผู้เรียนสรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อให้เข้าใจ เห็นคุณค่า และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้เป็นกุญแจสร้างความสำเร็จในชีวิต”
ด้าน คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาเยาวชนในภาคการศึกษาว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลเชื่อว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการพัฒนาคน ให้มีคุณภาพ จึงสนับสนุนให้ “ครู” นำหลักปรัชญานี้ไปใช้ในการสร้างการเรียนรู้ของเยาวชน ให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดและหลักการในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดความสำเร็จและยั่งยืนทั้งต่อตนเอง ชุมชนสังคม และประเทศชาติ บทบาทของมูลนิธิสยามกัมมาจลประกอบด้วย 1.การสนับสนุนให้ผู้บริหารและครูมีเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ถูกต้อง 2.การสนับสนุนให้ครูมีทักษะการในการออกแบบการเรียนรู้ และเป็นครูฝึกที่ดี ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย 3.การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายครู เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น และ 4.การสนับสนุนผู้บริหารสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในโรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้ “ครูทั้งโรงเรียน” สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อฝึก “ผู้เรียน” ให้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้เป็น ซึ่งจากการดำเนินการทั้งหมดนี้ส่งผลให้ครูหลายท่านบอกว่าหลังจากทำงานนี้แล้วทำให้ตนมีความสุขมากขึ้น จากการที่นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมมากขึ้น
“ปัจจุบันโรงเรียนที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าไปสนับสนุน ได้พัฒนาตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา จำนวน 35 แห่งกระจายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแกนนำขยายผล และเป็นกลไกสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียน40,000 แห่งทั่วประเทศ” ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวปิดท้าย