กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ขอแสดงความยินดีกับทีมเคมี Amazing Indicator กลุ่มที่ 1 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ได้รับรางวัลที่ 1 จากการคิดค้นทดลองอินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ในการทดสอบหาค่าpH ต่าง ๆ ตามโจทย์ที่ได้รับ ต้องการหาอินดิเคเตอร์ราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลทดลองปรากฏว่าเด็กสารสาสน์เอกตราทำได้จริง สามารถสกัดอินดิเคเตอร์ได้จากดอกอัญชัน
ทีม Amazing Indicator มีสมาชิก 5 คน ได้แก่ นายจิตรทวัช พัวพงษ์พันธ์, นายนภพล ประจวบพันธ์ศรี, นายวรเมฆ มโนสิทธิศักดิ์, นายภาคิน เตชะกัลป์ยาณิน, นายราม สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้คิดค้นทดลอง อินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ภายใต้แนวคิดสร้างสารอินดิเคเตอร์ที่มีราคาถูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายจิตรทวัช พัวพงษ์พันธ์ นักเรียน ชั้น 12 A 1 ในทีม Amazing Indicator โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า ในวงการเคมี เป็นธรรมดาที่ห้องแลป ต้องทดสอบหาค่า pH ต่างๆ ซึ่งต้องใช้สารชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า อินดิเคเตอร์ หรือสารที่ระบุการเปลี่ยนแปลงของค่า pH ซึ่งปกติสารนี้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้า แต่มักมีราคาสูง และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือหาซื้อไม่ได้ในบางช่วง บางเวลา เพราะสินค้าขาดตลาด ดังนั้นทีม Amazing Indicator ของเรา จึงมีแนวคิดว่า จะหาสารอินดิเคเตอร์ ราคาถูกได้อย่างไร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงคิดค้นทดลองทำใช้เอง
วิธีการทดลองของเราคือ สกัดอินดิเคเตอร์ จากดอกอัญชัน มีด้วยกัน 3 วิธีคือ 1. นำดอกอัญชันมาต้มในน้ำเดือด รอ 20 นาที แล้วนำสารที่ได้ไปสกัดสารโมเลกุลใหญ่ 2. นำดอกอัญชันแห้งมาต้ม รอ 20 นาที เช่นกัน แล้วนำสารที่ได้ไปสกัดสารโมเลกุลใหญ่เช่นเดียวกับวิธีแรก 3. นำดอกอัญชันตากแห้งไปหมักในเอทานอลเป็นเวลา 3 วัน แล้วนำสารสกัดที่ได้ มาสกัดสารโมเลกลุใหญ่ ผลที่ได้คือเมื่อเรานำมา ทดสอบค่า pH ในสารละลายต่าง ๆ พบว่า อินดิเคเตอร์ที่ได้ผลดีที่สุด คือ อินดิเคเตอร์ที่สกัดได้จากการหมักดอกอัญชันในเอทานอล ตามวิธีที่ 3 โดยประสิทธิภาพของสีอินดิเคเตอร์ใกล้เคียงกับยูนิเวอร์แซลอินดิเคเตอร์ หรืออินดิเคเตอร์ที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยเปรียบเทียบจากสีของอินดิเคเตอร์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราทำได้ สามารถค้นหาอินดิเคเตอร์ที่มีราคาถูก และสกัดได้จากดอกอัญชัน พืชที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
อาจารย์กำจรเดช กิจมั่นเจริญกุล ครูประจำชั้น Y11 B โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า วิชาเคมีทั่วไป ของม.ปลาย จะมีเนื้อหาสาระค่อนข้างมาก การที่จะสอนเคมีให้เด็กสนุกและไม่รู้สึกเบื่อ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในพื้นฐานของวิชาเคมี เคมีเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทั้งอากาศที่เราหายใจเข้าไป วัตถุ สิ่งของ ล้วนมีสสาร เพราะเกียวข้องกับโมเลกุล เมื่อทำความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้ เด็กจะเข้าใจได้ง่าย จากนั้นเสริมด้วยเครื่องมือ สื่อการสอน ซึ่งปัจจุบันหาได้ง่าย มีการโหลดวีดีโอจากเว็บไซต์มาให้เด็กได้เห็นภาพ ทำให้เด็กเข้าใจได้เร็ว เด็กรู้สึกตื่นเต้น นับว่าเป็นการสอนที่แตกต่างจากอดีต ทำให้เด็กมีความเข้าใจในวิชาเคมีมากยิ่งขึ้น
“ผลงานนักเรียนเคมี ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้ เท่าที่ได้สัมผัสมีความพอใจ เพราะเด็กเข้าใจกระบวนการวิทยาศาสตร์ มีความรับผิดชอบ สามารถต่อยอดผลงานได้ ส่วนรางวัลที่เด็กได้รับทำให้เด็กมีกำลังใจ ทำให้อยากเรียนเคมีมากยิ่งขึ้น” อาจารย์กำจรเดช กล่าวทิ้งท้าย