รมว.พม. พอใจผลการดำเนินงานจัดระเบียบขอทาน หลังลงพื้นที่สำรวจครบ ๗ วัน มีขอทานจำนวน ๒๔๐ คน เข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน

ข่าวทั่วไป Monday October 27, 2014 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--พม. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๗ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า จากกรณีมีร้านคาราโอเกะ ค้าประเวณีข้ามชาติ พบหญิงสาวลาวเกือบ ๒๐ คน เข้ามาทำงานในคราบนักท่องเที่ยว ที่จังหวัดเลย ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับกรณีมีเด็กชายที่ป่วยด้วยโรคสมองบวม หรือน้ำท่วมสมองตั้งแต่กำเนิด วัดขนาดรอบศรีษะได้ ๑๘ เซนติเมตร น้ำหนักศรีษะประมาณ ๑๐ กิโลกรัม ที่จังหวัดชลบุรี โดยกรณีดังกล่าว ได้มอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเด็กและดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานติดต่อโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคให้เด็กชายดังกล่าว พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมครั้งนี้ มีการรายงานสรุปผลการดำเนินงานจัดระเบียบขอทาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจตามบริเวณต่างๆของกรุงเทพฯ ครบ ๗ วัน ตามที่กำหนดไว้ คือระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ พบว่า มีขอทานเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน จำนวนทั้งสิ้น ๒๔๐ คน ซึ่งเป็นขอทานคนไทย จำนวน ๙๖ คน และขอทานต่างด้าว จำนวน ๑๔๔ คน แบ่งเป็นชาย ๙๐ คน หญิง ๙๕ คน เด็กชาย ๓๑ คน และเด็กหญิง ๒๔ คน โดยขอทานคนไทยได้ส่งไปที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จำนวน ๖ คน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จำนวน ๒๙ คน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จำนวน ๕๒ คน สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลาหญิงบ้านกึ่งวิถีจำนวน ๑ คน สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) จำนวน ๒ คน มีญาติรับตัวกลับบ้านจำนวน ๑ คน และส่งไปที่โรงพยาบาล จำนวน ๕ คน สำหรับขอทานต่างด้าวจำนวน ๑๔๔ คน ได้นำไปส่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินการส่งกลับประเทศต่อไป พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทานในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นับว่าได้ผลที่พอใจ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะยังขับเคลื่อนงานดังกล่าวต่อไป โดยจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม.(เทศกิจ) กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข NGO เป็นต้น เพื่อสรุปผลการดำเนินงานการจัดระเบียบขอทาน พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง “ทั้งนี้ มีการเสนอให้ตรวจ DNA ของขอทานแต่ละคน ที่เข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน เพื่อนำผล DNA เก็บไว้เป็นข้อมูลในการพิสูจน์ว่าเป็นพ่อแม่ลูกกันจริงหรือไม่ เมื่อมีกรณีที่พบขอทานนำเด็กมาขอทานและอ้างว่าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันแก้ไขกรณีมีเด็กหายและถูกบังคับให้มาเป็นขอทานได้อีกด้วย” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ