กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2557 จำนวน 1,134 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 26.6,41.5 และ 31.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 45.7,12.3,12.4,14.9 และ 14.7 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.5 และ 17.5 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 86.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.7 ในเดือนสิงหาคม เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
จากการสำรวจพบว่าระดับความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลเกี่ยวกับความซบเซาของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ การแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงกระตุ้นในการขยายการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงของการฟื้นตัว ผู้ประกอบการเห็นว่าการขยายตลาดการค้าชายแดนจะเป็นโอกาส ให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.7 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 102.4 ในเดือนสิงหาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกันยายน 2557 จากการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 78.5 ลดลงจากระดับ 86.7 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นจาก 102.7 ในเดือนสิงหาคมโดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 85.0 ลดลงจาก 87.1 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจาก 103.6 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 93.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.2 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนสิงหาคมโดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกันยายน จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจากระดับ 89.6 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง รวมถึงปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอแผนการลงทุน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากยอดสั่งซื้อเหล็กแผ่นรีดเย็น โครงเหล็กและเหล็กแผ่น จากประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ลดลง ขณะที่ยอดขายในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกัน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์เล็กและรถจักรยานยนต์มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และตลาดกำลังปรับตัวสู่สมดุลหลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก รวมทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ที่มียอดคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ ในประเทศลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.1 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.3 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคเหนือ ในเดือนกันยายนปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ การค้าชายแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากสินค้าประเภทเส้นด้ายประดิษฐ์ มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากตลาดอินโดนีเซีย จีน ตุรกี และญี่ปุ่น ด้านอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าที่ทำจากผ้าถัก มียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น เยอรมนี และเบลเยี่ยมเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าประเภทชุดชั้นใน มียอดจากคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ประกอบกับลูกค้าในยุโรปเร่งสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น ก่อนที่ EUจะตัดสิทธิ์ GSPของไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูป มียอดส่งออกไปประเทศยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.5 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 88.1 ลดลงจากระดับ 94.0 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เกิดจากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จที่มียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์อัดแท่ง มียอดสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ลดลงเช่นกัน รวมทั้งอุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน ผลิตภัณฑ์ประเภทอิฐมอญ มียอดขายในประเทศลดลง จากภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันยอดสั่งซื้อหินอ่อนปูพื้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปรับตัวลดลง ด้านอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น มียอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง ขณะที่ยอดการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางและอาเซียนลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ประกอบกับเกิดสงครามในตะวันออกกลาง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 104.1 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 96.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 95.4 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ในเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เกิดจากปัจจัยบวก ได้แก่ การค้าชายแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับลูกค้าต่างประเทศเริ่มสั่งซื้อสินค้าเพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงสิ้นปี ส่งผลให้ดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สินค้ากลุ่ม Semiconductor และ IC ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ i-pad, iPhone, Galaxy tab คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มียอดการส่งออกไปยังประเทศ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และฮ่องกง เพิ่มขึ้น ด้านอุตสาหกรรมพลาสติก สินค้าประเภทถุงพลาสติก ฟิล์ม มียอดการส่งออกยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มียอดคำสั่งซื้อเครื่องประดับเงินจากตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสามารถพัฒนารูปแบบสินค้าที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้า ประกอบกับมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อเพิ่มช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.2 เพิ่มขึ้นจาก 103.8 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 72.8 ลดลงจากระดับ 75.9 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้ซึ่งอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขยายการลงทุน โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะกุ้งขาวและปลาทูน่า ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างยุโรปลดลง ขณะที่ยางพาราซึ่งเป็นสินค้าหลักของภาคใต้ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าใน 3 เดือนข้างหน้า การประกอบการจะดีขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.0 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดในต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 85.7 ลดลงจาก 89.9 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.5 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ 87.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 83.0 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.9 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกันยายนนี้ คือ ให้ภาครัฐเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เช่น การผ่อนคลายระเบียบต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้มีการเชื่อมโยงกัน รวมทั้งรักษาระดับราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม เนื่องจากเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม และ จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านข้อมูลการค้าการลงทุน เกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านให้กับผู้ประกอบการ SMEs