กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--PROW PR
หนังสือจากโลกออนไลน์ ท่องเที่ยว พัฒนาตัวเอง และหนังสือสำหรับเด็กเล็กมาแรง เสนอโครงการคูปองปัญญาแก่รัฐบาล กระจายการอ่านสู่ทุกครอบครัว พร้อมจัดงบการอ่านเป็นงบประมาณประจำปีแต่ละจังหวัด และรณรงค์มอบหนังสือเป็นของขวัญช่วงปีใหม่ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมหนังสือ
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)ให้สัมภาษณ์ถึงผลสรุปรวมของ “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 15 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า งานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายทั้งในแง่ของผู้ร่วมงานและยอดขายโดยรวมของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ผู้เข้าชมงานจะเป็นเด็กและเยาวชน รองลงมาคือวัยทำงาน แม้ว่ายอดซื้อหนังสือต่อคนจะลดลงบ้างก็ตาม
“แม้ยอดการซื้อหนังสือต่อคนลดลงอย่างบ้าง จากที่เคยซื้อกันคนละประมาณ 5-10 เล่ม เหลือประมาณคนละ 3-6 เล่ม เพราะมีการไตร่ตรองมากขึ้น และจะซื้อเฉพาะเล่มที่ตัวเองต้องการจริงๆ แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เพราะมีนักอ่านถึง 2.8 ล้านคนเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะในวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันเสาร์อาทิตย์ ที่มีผู้ร่วมงานราว 3.5 แสนคนต่อวัน เมื่อเทียบกับมหกรรมหนังสือครั้งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 6.46 %การอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก” นายจรัญกล่าว
โดยเทรนด์หนังสือที่มาแรงในครั้งนี้ คือหนังสือที่นักเขียนต่อยอดผลงานของตัวเองจากโลกออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ บล็อก แฟนเพจ เป็นต้น ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความคิดในแง่ต่างๆ โดยไม่ได้เป็นเพียงแนวนิยายออนไลน์อีกต่อไป และหลายเล่มมีการพิมพ์ซ้ำเพิ่มเติมระหว่างงานมหกรรมหนังสือฯ คาดว่าอาจเพราะนักเขียนมีฐานของแฟนคลับจึงทำให้ยอดขายหนังสือแนวนี้ไปได้ดี และการันตียอดขายได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงหนังสือแนวท่องเที่ยวต่างประเทศ แนวพัฒนาตัวเอง ทั้งในด้านของการเพิ่มพูนความสามารถและวิธีสร้างรายได้เพิ่มเติม ที่วัยรุ่นและวัยทำงานให้ความสนใจอย่างสูง
“ที่น่าสนใจคืองานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วงปฐมวัยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะแสดงว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการปลูกฝังการอ่านแก่เด็กไทยตั้งแต่ยังเยาว์มากขึ้น” นายจรัญกล่าว
นายจรัญคาดว่าจากความสำเร็จในครั้งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือของปีนี้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยอดรวมรายได้ทั้งปีของอุตสาหกรรมหนังสือคงจะยังอยู่ในระดับ 25,000 ล้านบาทเช่นเดิม เพราะมหกรรมหนังสือฯเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
นายจรัญยังกล่าวอีกด้วยว่า ตนขอเสนอรัฐบาลให้ทำโครงการ “คูปองปัญญา” แจกคูปองให้ประชาชนคนละ 200 บาท เพื่อซื้อหนังสือที่ไหนก็ได้ เพราะมีคนไทยอีกมากที่อยากอ่านหนังสือ แต่ไม่สามารถซื้อได้ รวมถึงจัดงบการอ่านเป็นหนึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมด้านการอ่าน เช่นเดียวกับงบด้านวัฒนธรรม กีฬา และยาเสพติด และรณรงค์ให้มอบหนังสือเป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
“หนังสือเป็นของขวัญที่ดีที่สุด เพราะไม่ได้มอบแค่ความบันเทิง แต่ยังมอบปัญญาและความสุขให้แก่กัน อยากให้รัฐบาลช่วยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมอบหนังสือเป็นของขวัญ ถ้าหากรัฐบาลทำได้นั้นถือเป็นการมอบของขวัญให้กับสังคมไทยด้วย”
นายจรัญยังเผยอีกว่า ปัจจุบันสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้พยายามกระจายการอ่านไปสู่ภูมิภาคด้วยงานหนังสือในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในทุกจังหวัด โดยโครงการล่าสุดคืองานเทศกาลหนังสืออุดรธานีครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ณ อุดรธานีฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุดรธานี ทุกความสำเร็จชี้ชัดว่า ไม่ใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือ เพียงแต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือที่อยากอ่านจริงๆ ซึ่งสมาคมฯพยายามร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านในทุกทางในหลายโครงการ อาทิ“โครงการ๑ อ่าน ล้านตื่น” , “การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์” แต่ส่วนที่จะสามารถทำให้วัฒนธรรมการอ่านเกิดขึ้นได้จริงๆนั้น จะต้องมาจากภาครัฐเป็นสำคัญ
“หน้าที่หนึ่งของรัฐคือต้องสร้างคนคุณภาพให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย การลงทุนด้วยหนังสือถือเป็นการลงทุนที่ถูกมากเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น และการที่มีคนมางานหนังสือมากขนาดนี้ น่าจะเป็นตัวเลขที่ทำให้รัฐบาลมองบ้างว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ประชาชนต้องการอะไรจากประเทศนี้ และน่าจะเป็นความเห็นหนึ่งที่ส่งถึงรัฐบาลได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเหลียวมามองอุตสาหกรรมหนังสือบ้าง เพราะรัฐมีหน้าที่สร้างคนให้เป็นคนคุณภาพ” นายจรัญกล่าว