กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ “ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมตามเงื่อนไขคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ของสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.68 ระบุว่า เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 14.95 ระบุว่า เป็นเรื่องของการเสียสละ แบ่งปัน ขาดความมีน้ำใจ เห็นแก่ประโยชนส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ร้อยละ 12.47 ระบุว่า เป็นเรื่องของการขาดความสามัคคี ปรองดอง รักใคร่กลมเกลียว เกิดความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 7.99 ระบุว่า เป็นเรื่องของ การขาดจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงาม ร้อยละ 4.48 ระบุว่า เป็นเรื่องของการไม่รักษาฎหมาย ขาดความมีระเบียบวินัย ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นเรื่องของการไม่ละอาย ไม่เกรงกลัว ต่อบาป ร้อยละ 7.75 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น การขาดสติ การไม่รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมไทย การไม่รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ขาดความอดทน อดกลั้น ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่ยุติธรรม ใช้อำนาจในทางที่ผิด ปัญหาสังคม ค่านิยมที่ผิด ๆ ในเรื่องวัตถุนิยม และ ร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงระดับความสำคัญต่อการเร่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 41.41 ระบุว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ร้อยละ 49.80 ระบุว่า เร่งด่วนมาก ร้อยละ 0.08 ระบุว่า เร่งด่วนปานกลาง ร้อยละ 6.71 ระบุว่า เร่งด่วนน้อย ร้อยละ 0.96 ระบุว่า เร่งด่วนน้อยที่สุด และร้อยละ 1.04 ระบุว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล ที่ควรมีบทบาทหลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.57 ระบุว่า เป็นสถานศึกษา รองลงมา ร้อยละ 30.62 ระบุว่า เป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ รัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 8.63 ระบุว่า เป็นองค์กรทางศาสนา ร้อยละ 6.00 ระบุว่า เป็นสื่อมวลชน ร้อยละ 5.28 ระบุว่า เป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ร้อยละ 3.04 ระบุว่า เป็นตำรวจ ร้อยละ 0.96 ระบุว่า เป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ร้อยละ 11.35 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรี นักการเมือง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา สถาบันครอบครัว ประชาชนและทุก ๆ ฝ่ายควรร่วมมือกัน และ ร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.12 ระบุว่า ไม่ทราบถึงค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช. ขณะที่ ร้อยละ 47.88 ระบุว่า ทราบ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการส่งเสริมให้นักเรียนท่องค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการในโรงเรียน ว่าจะช่วยปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวแก่เด็กได้ในระดับใด พบว่า ร้อยละ 18.63 ระบุว่า จะสามารถช่วยปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวให้แก่เด็กได้มากที่สุด ร้อยละ 53.72 ระบุว่า ช่วยได้มาก ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ช่วยได้ปานกลาง ร้อยละ 21.42 ระบุว่า ช่วยได้น้อย ร้อยละ 2.88 ระบุว่า ช่วยได้น้อยที่สุด ร้อยละ 3.12 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย และ ร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.20 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 45.80 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.38 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 33.49 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 48.26 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 11.86 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
ตัวอย่างร้อยละ 92.58 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 6.45 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 0.97 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 26.29 สถานภาพโสด ร้อยละ 70.73 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.98 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 23.81 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.54 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.12 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 31.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ ร้อยละ 5.97 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 14.12 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.63 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.81 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.12 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.25 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 12.67 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 3.39 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 12.55 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.42 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.94 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.99 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.39 มีรายได้ ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.47 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และ ร้อยละ 10.23 ไม่ระบุรายได้