กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สถาบันอิศรา
นางสาวสุธินี ชุติมากุลทวี อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้จัดการโครงการ “พลังปัญญาชน สร้างสรรค์ชุมชนล้านนา” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เยาวชนภาคเหนือ พัฒนาความเป็นจิตอาสา เรียนรู้ภูมิปัญญากับชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุน กล่าวว่า ชุมชนภาคเหนือเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องของภาษา ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ระหว่างที่มีการปะทะกันระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่นั้น วิถีดั้งเดิมกลับถูกมองด้วยอคติ อาทิ ภูมิปัญญาดั้งเดิมถูกตีตราว่างมงาย กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองว่าด้อยพัฒนา ค้ายาเสพติด ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ดังนั้นโครงการฯจึงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนในภาคเหนือใน3สถาบันการศึกษาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยาลงไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชนจริงเพื่อศึกษารากเหง้าชุมชนในแง่มุมต่างๆ ก่อนนำเสนอสู่สาธารณะในมุมสร้างสรรค์
นางสาวสุธินี กล่าวว่า นักศึกษาทั้งหมดจะแบ่งกลุ่มและเลือกลงพื้นที่ชุมชนรวม 15 ชุมชน ซึ่งชุมชนที่ลงไปนั้นจะเป็นชุมชนที่ใกล้กับสถาบันศึกษาของตนเอง มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นชุมชนที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากนั้นกลุ่มนักศึกษาจะร่วมเรียนรู้ จัดตั้งกระบวนการชุมชน ศึกษารากฐานของชุมชนร่วมกัน เพื่อค้นหาและสกัดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่านำไปอนุรักษ์และเผยแพร่สู่วงกว้าง ทั้งนี้ภายหลังการทำงานของกลุ่มนักศึกษาร่วม 8 เดือน ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนนำเสนอสื่อสู่สาธารณะ “ กาดหมั้วปัญญาชน” เมื่อวันที่28กันยายนที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผลงานที่พัฒนาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน อาทิ ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นถิ่น การทำเกษตรอินทรีย์ การจัดการทรัพยากรป่าชุมชน
นางสาวสุธินี กล่าวว่า ผลงานที่ได้คือ ความสุขจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษากับชาวบ้าน เป็นการนำภูมิปัญญาที่มีคุณค่าไปพัฒนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายให้คนภายนอกเข้าใจในวิธีคิดและวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ พร้อมกับที่เยาวชนเองจะร่วมเรียนรู้เป็นตัวกลางประสานความคิดจากกลุ่มคนต่างๆในชุมชนตัวเอง มีความเป็นจิตอาสาเข้าใจบริบทความเป็นจริงในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยมุมมองของความเท่าเทียม
นายวันจันทร์ ชุ่มใจเย็น ชาวบ้านวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งได้ทำกิจกรรมพัฒนาสมุนไพรในหมู่บ้านร่วมกับนักศึกษา กล่าวว่า โครงการฯได้มาช่วยจัดความรู้ที่มีอยู่คู่กับชาวบ้านในชุมชนซึ่งกระจัดกระจายให้เป็นระบบ ช่วยออกแบบหีบห่อสำหรับบรรจุสมุนไพร ทั้งนี้กิจกรรมที่ทำร่วมกับนักศึกษาทำให้ภูมิปัญญาที่มีง่ายต่อการอนุรักษ์ เพิ่มมูลค่าให้กับตำหรับสมุนไพรพื้นบ้าน เอื้อต่อการให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญกับภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและมองว่าชุมชนยังมีคุณค่า