BU Theatre ปักธงขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเชิงรุก ปั้นอาชีพด้านศิลปะการแสดงรองรับAEC

ข่าวกีฬา Tuesday October 28, 2014 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค ถึงเวลาแล้วที่ศิลปะการแสดงจะเป็นศาสตร์สำคัญของประเทศ ทั้งคนเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ การออกแบบฉาก การกำกับการแสดง ล้วนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้วัฒนธรรมไทยจะมีความรุ่มรวย ลึกซึ้ง มีรากเหง้าหากเปรียบเทียบกับนานาประเทศ แต่เราต้องสามารถออกแบบให้ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมนั้นมีความทันสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจศิลปวัฒนธรรม โดยการออกแบบวัฒนธรรมนั้นต้องเข้าถึงจิตใจคนรุ่นใหม่ด้วย ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี นักวิชาการละครชื่อดัง ผู้อำนวยการศิลป์ แห่ง Bu Theatre Company และหัวหน้าภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงแนวคิดของ BU Theatre ในการปักธงขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเชิงรุกว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ที่Bu Theatre ได้บ่มเพาะว่าที่ศิลปินทุกสาขาในธุรกิจบันเทิงมีจุดประสงค์ประการสำคัญคือต้องการที่จะปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ได้ตื่นรู้งานวัฒนธรรมระดับมหภาค เป็นพันธกิจสำคัญยิ่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อแปลงทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ การทำงานที่ผ่านมาแม้จะเป็นการทำงานที่หนัก แต่ก็ได้ผลิตบุคลากรสาขาศิลปะการแสดงที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดและองค์กรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีมานี้ เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะการแสดงมักมองศิลปะการแสดงแค่ฉาบฉวย คือต้องการเป็นดาราเพียงมิติเดียว รวมทั้งหลายสถาบันก็ฉวยโอกาสนั้นแทนที่จะสร้างความตื่นรู้งานวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการในตลาดสากล ทั้งนี้ ถ้าเรามองลึกลงไปที่คำว่า “วัฒนธรรม” จะเห็นว่ามีความหมายอย่างลึกซึ้ง “วัฒนะ” หมายถึง การคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อ ตัวเราเองและผู้อื่น ความเจริญงอกงาม รุ่งเรือง “ธรรม” หมายถึง การกระทำหรือข้อปฏิบัติ เมื่อรวมกันแล้ว “วัฒนธรรม” หมายถึง การเพาะปลูก และบำรุงให้เจริญงอกงาม เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา วัฒนธรรมจึงไม่ใช่ย้อนอดีตในมิติเดียว ดังนั้น มิติ ของ “วัฒนธรรม” ที่เจริญงอกงามต้องทันสมัย มีความรุ่มรวย โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันกับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ASEAN Community ซึ่งส่วนมากทุกคนรู้จักเฉพาะ AEC คือมิติทางเศรษฐกิจ แต่ประชาคมอาเซียน ยังมีมิติของความมั่นคงทางการเมือง APSC และ สังคมวัฒนธรรม ASCC ที่คนไทยยังไม่ตื่นตัววางแผน ดังนั้นหากเราสามารถที่จะออกแบบวัฒนธรรมไทยที่มีความรุ่มรวยในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ให้เกิดการพัฒนาในเนื้อหาก็จะสามารถผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ผ.ศ.พรรณศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันเรามีคนที่มีฝีมือทางเทคนิคมาก แต่เราขาดเรื่องเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นงานวัฒนธรรมสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบอยู่มากมาย แต่ขาดคนที่จะดึงวัตถุดิบเหล่านี้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ จะเห็นว่าภาพยนตร์ไทยมีปัญหาเรื่องขาดบทที่ดี มีความลึกซึ้ง ทำอย่างไรหนังไทยจะถ่ายทอดจิตวิญญาณไทยร่วมสมัยที่นานาชาติจะให้ความสนใจและรู้สึกร่วมได้ ดังนั้นเราจะต้องมาตีความในคำว่าวัฒนธรรมกันใหม่ว่า วัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องของการอนุรักษ์อย่างเดียว เพราะโลกทั้งโลกในปัจจุบันได้ถูกหลอมรวมเป็นสากล มนุษย์สื่อสารกับมนุษย์ มีการแลกเปลี่ยนความเจริญงอกงามระหว่างมนุษย์ สำหรับ BU Theatre มีเป้าหมายชัดเจน คือ ต้องการที่จะอุทิศตนปั้นบุคลการในสาขาศิลปะการแสดงให้มีความเป็นมืออาชีพ โดย มุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตรให้เป็นสากล ไม่ได้มุ่งที่อาเซียนอย่างเดียว จะเห็นว่าปัจจุบันเรามีนักศึกษาจากนานาประเทศมาเรียนทำฉากที่ม. กรุงเทพ มาซึมซับวัฒนธรรมไทย เรียนรู้การพูดภาษาไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นในมุมของนักศึกษานานาชาติที่เข้ามา รวมทั้งนักแสดง ดารา ของไทยเองหลายคนที่มีผลงานทางจอแก้ว ปัจจุบันมีหลายท่านได้เข้ามาเรียนเสริมในสาขาวิชาศิลปะการแสดงที่ Bu Theater Company มีการทำงานร่วมกันในละครเวทีไกลกังวล ซึ่งจะจัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ