กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในโลกไปแล้ว จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2534 ที่อินเทอร์เน็ตได้เข้าสู่ประเทศไทยนั้น มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 30 คนทั่วประเทศเท่านั้น แต่เพียงแค่ภายในเวลา 22 ปี เท่านั้น จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 26 ล้านคน และ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยและคนในโลกไปแล้ว ดูได้จากปริมาณการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ในประเทศไทย ซึ่งรายงานจาก Techiasia เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 พบว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยนั้น เป็นเมืองที่มีผู้ใช้งาน Facebook เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยประชากรในประเทศไทยที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้ง 26 ล้านคนนั้น เป็นผู้ใช้งาน Facebook ถึง 24 ล้านคน
ด้วยการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีของอุปกรณ์พกพาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ อย่าง สมาร์ตโฟน และแทบเล็ต ที่ก้าวหน้าจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้ว ทำให้ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำนายทิศทางของอินเทอร์เน็ตในอนาคตที่เหล่านักวิเคราะห์และผู้เกี่ยวข้อง ต่างให้ความสนใจเพื่อใช้ทิศทางดังกล่าวในการเป็นผู้นำในโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคต
สำหรับผู้เขียนเองนั้น นอกจากเป็นอาจารย์ประจำสาขาการออกแบบสารสนเทศสามมิติให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ผู้เขียนยังมีความสนใจในด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก และเคยได้รับโอกาสในการเป็นอาจารย์พิเศษในการสอนวิชาที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและการออกแบบเว็บไซต์ให้กับสาขาสื่อดิจิทัล และสาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อีกด้วย สำหรับงานประชุมด้านธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ตนานาชาติ หรือ Internet Governance Forum (IGF) นั้น ในปีนี้ (พ.ศ. 2557) นับเป็นปีที่ 9 ที่มีการจัดขึ้น โดยงานดังกล่าวนั้น เป็นการประชุมเพื่อรวบรวมแนวคิดจากผู้มีส่วนร่วมสำคัญ (Stakeholder) ที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเทอร์เน็ต ในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นสื่อกลางในการกำหนดนโยบายทางอินเทอร์เน็ตในระดับเอกชน และระดับสาธารณะ ซึ่งผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วยเช่นกันในฐานะกรรมการบริหารสมาคมอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย หรือ Internet Society Thailand (ISOC Thailand)
ในระหว่างเข้าร่วมประชุมนั้น หัวข้อหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจอย่างมากคือ ทิศทางของอินเทอร์เน็ตในอนาคต หรือ Future Trends of The Internet โดยในงาน IGF 2014 ดังกล่าวนั้น ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ Vint Cerf ผู้ออกแบบและพัฒนาระบบโปรโตคอล TCP/IP ขึ้นมา และได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งอินเทอร์เน็ต (Father of The Internet) ซึ่ง Vint Cerf นั้น นอกจากได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้เขียนในเรื่องของ ทิศทางของอินเทอร์เน็ตในอนาคตแล้ว เขายังได้รับเชิญจากบริษัท Google ในฐานะ Technology Evangelist หรือบุคคลที่สร้างมาตรฐานสำคัญทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อคนจำนวนมาก ในงาน Google Big Tent ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยบริษัท Google แบบเฉพาะกิจ โดยงานดังกล่าวถูกจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมแนวคิดต่างๆ ที่มีผลกระทบต่ออินเทอร์เน็ตในระดับสังคม
Vint Cerf กล่าวว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่วิ่งไปเร็วมาก และไม่อาจจะหยุดยั้งได้ การที่คุณกำลังจะหยุดเทคโนโลยีก็เหมือนกับการที่คุณ ยกมือขึ้นเพื่อหยุดสึนามิที่พุ่งเข้ามาหาตัวคุณ ซึ่งแน่นอน คุณไม่อาจจะหยุดมันได้ อินเทอร์เน็ตเองก็ไม่แตกต่างกัน Vint Cerf กล่าวว่า สมัยที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาแรกๆ และคอมพิวเตอร์ยังแสดงผลเป็นตัวอักษรนั้น ผู้คนยังไม่ค่อยสนใจมันมากนัก แต่เมื่อมันเริ่มต้นแสดงผลเป็นรูปภาพได้ มันก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากสึนามิ ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นอินเทอร์เน็ต แม้ว่ามันจะเปลี่ยนจากมีสายเป็นไร้สาย หรือแม้แต่ส่งข้อมูลออกไปอวกาศได้แล้ว อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อโลกเราทั้งโลก Vint Cerf เชื่อว่า น่าจะไม่มีเทคโนโลยีอะไรมาแทนที่อินเทอร์เน็ตในระยะเวลาอันใกล้นี้ เทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยนไป แต่พื้นฐานอินเทอร์เน็ตยังคงเดิม
จากการเข้าร่วมงาน IGF 2014 เป็นเวลา 5 วันตั้งแต่เริ่มเปิดงานจนปิดงานโดยสมบูรณ์ ทิศทางของอินเทอร์เน็ตที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุด คือ Open Internet หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน สำหรับการเข้าถึง และอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่ถูกปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด เรื่องที่ได้รับความสนใจรองมาคือ การเปิดกว้างเวทีระดับโลกให้กับเยาวชน เนื่องจากสังคมกำลังจะเป็นสังคมของคนรุ่นต่อไปไม่ใช่สังคมของคนสูงอายุที่มีเวลาเหลือในชีวิตน้อยกว่า สังคมยุคใหม่ ไม่เฉพาะกับในสังคมอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ต่างกำลังต้องการมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นมุมมองจากเยาวชน ที่จะเป็นกำลังขับดันของสังคมยุคต่อไปอย่างแท้จริง
Internet of Things (IoT) ก็เป็นหนึ่งในกระแสที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและคงจะเป็นสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน Internet of Things หรือที่บางครั้งเรียกว่า Internet of Everything หรือ Machine to Machine (M2M) นั้นเป็นกระแสที่ใหม่มาก เนื่องจากในอนาคตนั้น เชื่อกันว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องมือต่างๆ รอบตัวเรา อย่างเช่น ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ ฯลฯ จะสามารถใช้งานและเชื่อมต่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถคุยกันได้เอง ซึ่งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ ภาษากลาง และมาตรฐานต่างๆ สำหรับการทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สื่อสารกันเองได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างมนุษย์อีกต่อไป
นอกจากนี้แล้ว เทคโนโลยีของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ หรือ Wearable Technology ก็เป็นที่พูดถึงในงาน IGF 2014 นี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเชื่อกันว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ กำลังจะเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจากสมาร์ตโฟน โดย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ ที่เริ่มได้รับความนิยมแล้ว เช่น แว่นตาอัจฉริยะจากบริษัท Google (Google Glass) และนาฬิกาอัจฉริยะที่มีหลายบริษัทผลิตขึ้นมา เช่น บริษัท Samsung เป็นต้น
เทคโนโลยีอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถต่อต้านได้ตามคำพูดของ Vint Cerf แต่การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะกระแสของมันให้เป็นประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และไม่อาจมองข้ามได้ ดังเช่นที่ Krista Kiuru รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารและการศึกษาประเทศฟินแลนด์ได้กล่าวไว้ในงาน IGF 2014 ที่ผ่านมาว่า ตัวละครตัวเล็กๆ อย่าง Angry Birds เติบโตเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศฟินแลนด์ได้ และทำเงินมหาศาล ก็เพราะอินเทอร์เน็ต และกระแสอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟนและแทบเล็ต
บทความนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดหนึ่งที่ Vint Cerf พูดกับผม “ดีใจที่ได้เจอคุณนะ ตัวแทนจาก ISOC Thailand แล้วเทคโนโลยีก็นำพาเรามาเจอกันในที่สุด เทคโนโลยีทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันง่ายมากขึ้น คุณว่าไหม?” ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ติดตามทิศทางของอินเทอร์เน็ตในการประชุม IGF 2015 ในครั้งหน้าอีกหรือไม่ รู้แต่เพียงว่า ผมกลับมาเมืองไทยพร้อมกับแนวคิดที่กำลังจะเป็นจริงในชีวิตของเราในอนาคตอันใกล้นี้