กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ระบบอินเทอร์เน็ตนั้น เกิดขึ้นโดยมีรากฐานมาจากระบบ ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่พัฒนามาจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว
คำว่า Internet นั้น เป็นคำย่อมาจากคำว่า Internetworking ซึ่งหนึ่งในผู้คิดคำดังกล่าว คือ Vint Cerf (ร่วมคิดกับ Yogen Dalal และ Carl Sunshine) ซึ่งนับเป็นโชคดีของงานประชุมด้านธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ตนานาชาติ หรือ Internet Governance Forum (IGF) 2014 ที่จัดขึ้นในปีนี้ (พ.ศ. 2557) ที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสรับฟังความเห็นในแง่มุมต่างๆ ของผู้ที่ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งอินเทอร์เน็ต (Father of the Internet)” ท่านนี้อีกครั้ง
ผู้เขียนเองทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และมีหน้าที่รับผิดชอบในสมาคมนานาชาติของวิทยาลัยหนึ่งในนั้น คือ สมาคมอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย หรือ Internet Society (ISOC) Thailand ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน IGF 2014 ที่ประเทศตุรกี ในครั้งนี้
หนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนรับรู้ได้เกี่ยวกับงาน IGF 2014 ที่จัดขึ้นโดยสหประชาชาติ หรือ UN คือ ความต้องการให้มนุษย์ทุกคนบนโลกมีอิสรภาพและความเท่าเทียมกันในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ Vint Cerf และ บริษัท Google พยายามแสดงออกภายในงาน Google Big Tent ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นโดยบริษัท Google แบบเฉพาะกิจ โดยงานดังกล่าวถูกจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมแนวคิดต่างๆ ที่มีผลกระทบต่ออินเทอร์เน็ตในระดับสังคม
ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องอิสรภาพทางอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกๆ คนบนโลก จึงเป็นแนวคิดที่เป็นที่สนใจมากสำหรับผู้คนในปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่ในงาน IGF 2014 ด้วยเช่นกัน
ความหมายของอิสระในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน หรือ Open Internet นั้น หมายถึง ระบบอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ฟรี อย่างสาธารณะ และ มีประสิทธิภาพได้ตามมาตรฐานการใช้งานที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งอิสระในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน หรือ Open Internet ถูกสนับสนุนโดยหลักแห่งความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือ Net Neutrality (Internet Neutrality)
หนึ่งในเหตุผลใหญ่ที่ต้องมีแนวคิด ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือ Net Neutrality (Internet Neutrality) เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2549 เมื่อเหล่าผู้ให้บริการทางด้านอินเทอร์เน็ต มีแนวคิดในการเก็บค่าบริการเพิ่มสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณการโอนถ่ายข้อมูลที่สูง
แนวคิดความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือ Net Neutrality เกิดขึ้นจากพื้นฐานแนวคิดของระบบอินเทอร์เน็ต คือ “พื้นที่แห่งความเสมอภาค” และผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เชื่อว่า ความเป็นกลางทางด้านอินเทอร์เน็ตจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้ดีกว่า เห็นได้จากประวัติศาสตร์ทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมา
ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้มีอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น เห็นต่างในแง่ที่ว่า ในบางกิจกรรม เช่น กิจกรรมทางการเงิน และ ทางการแพทย์ การยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือ น่าจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับได้ และการผ่าตัดทางไกลโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตจะไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้เลย หากต้องแบ่งปันอินเทอร์เน็ตกับผู้อื่นโดยไม่กันช่องทางพิเศษสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เสถียรเอาไว้สำหรับกิจกรรมพิเศษเหล่านี้
ปัญหาใหญ่อีกปัญหาก็คือ เหล่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต่างก็อยู่ได้ด้วยเงินที่ได้มาจากการประกอบกิจการ แต่ในบางกรณี เช่น การให้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตฟรี แต่พ่วงโฆษณามาด้วย จะนับว่าเป็นอินเทอร์เน็ตฟรี สำหรับแนวคิดแบบ Open Internet หรือเปล่า ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน การตีความในเรื่องนี้ยังลึกลงไปถึงระดับที่ว่า การหากำไรของเหล่าผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตควรเป็นการหากำไรเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ หรือ จะปล่อยให้บริษัทเหล่านี้หากำไรจนรวยเป็นกอบเป็นกำ จากสิ่งที่ควรจะเป็นของสาธารณะสำหรับทุกๆ คนอย่าง อินเทอร์เน็ต หรือไม่?
หนึ่งในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับอิสระในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน หรือ Open Internet ที่เป็นที่สนใจ และผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต้องการให้ IGF และ UN เป็นผู้ร่วมผลักดันอย่างเต็มที่ คือ ปัญหาการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตของผู้คนในโลก ซึ่งแม้ว่าระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันจะถูกพัฒนาไปมาก แต่จากการสำรวจพบว่า ยังมีประชากรบนโลกอีกนับพันล้านคนที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายฝ่ายก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งองค์กรที่สนับสนุนการกระจายอินเทอร์เน็ตไปสู่พื้นที่ห่างไกล ที่มีมาตั้งซุ้มประชาสัมพันธ์กันอย่างมากมายหน้างาน IGF 2014 และ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook ที่มีแนวคิดในการทำบอลลูน เครื่องร่อน และอากาศยานไร้คนขับ อย่าง drone ในการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในที่ซึ่งกันดาร ยากจะเข้าถึงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงไม่จบสิ้นในงาน IGF 2014 ครั้งนี้ คือ ประเด็นที่ว่า การกระจายอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคนนั้น ควรจะเน้นการกระจายในวงกว้างก่อน โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการเก็บค่าบริการหรือไม่ หรือควรเป็นการกระจายแบบไม่หวังผลกำไรเป็นหลัก โดยไม่เน้นที่ความเร็วในการขยายพื้นที่ในการให้สัญญาณอินเทอร์เน็ต
เป็นที่แน่นอนว่า การประชุม IGF 2014 ในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดข้อสรุปเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับอิสระในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน หรือ Open Internet ที่กระจ่างมากขึ้นแต่อย่างใด แต่ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำให้โลกแห่งอินเทอร์เน็ตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากจบงาน IGF 2014 ผลคิดถึงเรื่องนี้เล่นๆ ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย อยู่ๆ คำพูดของ Vin Cerf บิดาแห่งอินเทอร์เน็ตที่พูดไว้ในงาน Google Big Tent ก็ดังออกมาข้างหูผม “อินเทอร์เน็ต เป็นของทุกคน ที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม และ เราต้องหาจุดสมดุลในการวางนโยบายอินเทอร์เน็ตให้กับคนทั้งโลก ซึ่งมีความแตกต่างกัน”
เพิ่มเติม
ผมได้มีโอกาสเชิญ Eric Loeb รองประธานบริษัท AT&T บริษัทให้บริการทางด้านโทรคมนาคมชื่อดังสัญชาติสหรัฐอเมริกามาพูดบรรยายในประเทศไทยให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และสมาคมอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย ซึ่งผมฝันอยากให้เขามาบรรยายเรื่องแนวคิดของเขาในฐานะตัวแทนบริษัทที่แสวงหาผลกำไร ต่อแนวคิด อิสระในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน หรือ Open Internet และเป็นไปได้ในอนาคตในการหาจุดสมดุลของเรื่องดังกล่าวนี้