กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ย้อนกลับไป เมื่อการประชุม World Summit เรื่อง Information Society ที่เมือง Geneva ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) โดยเกิด “กลุ่มปฏิบัติการทางด้านธรรมาภิบาลทางอินเทอร์เน็ต หรือ Working Group on Internet Governance” เริ่มจัดครั้งแรกที่เมือง Athens ประเทศ Greece ในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) โดยใช้แก่น (Theme) ของงานว่า “Internet Governance for Development (Openness,Security,Diversity, Access and Emerging Issues)” และครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่เมือง Istanbul ประเทศ Turkey ในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) โดยใช้แก่น (Theme) ของงานว่า “Connecting Continents for Enhanced Multi-stakeholder Internet Governance”
เมื่อได้เข้าไปร่วมงานในระหว่างวันที่ 1-5 กันยายน ณ เมืองอิสตัลบูล ประเทศตุรกีนั้น ผมรู้สึกแปลกใจและอัศจรรย์ใจผสมปนเปกันไป เมื่อเดินไปพบกับเยาวชนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา
ในการประชุม High Level Leaders Meeting และ Opening Ceremony/Opening Session สังเกตได้ว่ามีแต่ผู้ใหญ่และผู้บริหารระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมงาน โดยที่เด็กและเยาวชนของแต่ละเชื้อชาติ จะเข้าร่วมกิจกรรมภายนอกห้องประชุมหลักในแต่ละบู๊ธที่จัดแสดง (ซึ่งแต่ละวันจะไม่ซ้ำกันเลย)
งาน IGF 2014 มีรายละเอียดและหัวข้อมากมาย เช่น Best Practice Forum, IGF, Human Right เป็นต้น โดยมีหัวข้อสำหรับเยาวชนที่น่าสนใจ เช่น
-Child Online Protection : Roles and Responsibilities, Best Practices and Challenges (Host Country Session) หรือการคุ้มครองเด็กออนไลน์ : บทบาท ความรับผิดชอบและความท้าทายในการปฏิบัติการ
ในหัวข้อนี้จะเน้นถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี ที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นและมีการใช้งานออนไลน์ตลอดเวลา ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมีตั้งแต่ ความปลอดภัยจากสิ่งไม่หวังดี การควบคุมในการเข้าถึงเว็บไซต์ต้องห้าม การควบคุมการใช้จ่ายโดยไม่ตั้งใจเป็นต้น ซึ่งถือว่าตรงกับมติของ UN 44-25 ในการเน้นบทบาท
การคุ้มครองเด็กต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
-Online child protection หรือ การคุ้มครองเด็กออนไลน์
หัวข้อนี้เน้นภาพรวมของเยาวชนยุคสหัสวรรษใหม่ ในการสร้างกรอบและหลักปฏิบัติความปลอดภัยสำหรับเยาวชนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้โลกออนไลน์เป็นสถานที่ๆ ช่วยพัฒนาการและเจริญเติบโตแก่เยาวชนของโลกในศตวรรษที่ 21
-Protecting Child Safety and Child Rights หรือ การปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก
หัวข้อนี้เน้นหนักไปในการประชุมเชิงปฏิบัติการในการหาวิธีปกป้องเยาวชนจากอันตราย แต่ยังคงรักษาสิทธิเสรีภาพของเยาวชนเอาไว้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างกรอบการคุ้มครองเด็กและกรอบสิทธิเด็กที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตามอนุสัญญาของสหประชาชาติเรื่องสิทธิเด็กว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสวงหาความถูกต้องของข้อมูลทั้งความคิดทุกชนิดได้” แต่ก็ไม่สามารถที่จะเพิกเฉยในการปกป้องข้อมูลที่อาจเป็นภัยได้ เช่น สื่อลามกอนาจาร สื่อด้านอาวุธปืน เป็นต้น
-Youth Involvement in Internet Governance หรือ การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการดูแลอินเทอร์เน็ต
หัวข้อนี้เน้นการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสิทธิในการแสดงความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตนานาชาติ ด้วยปัจจุบันการมีส่วนร่วมของเยาวชนยังน้อยอยู่ และยังมีการปิดกั้นจากคณะกรรมการหลักของ IGF อยู่บ้าง เนื่องจากความซับซ้อน ความพิเศษทางการเมือง ขนบธรรมเนียมนานาชาติ และยังรวมไปถึงการสร้างข้อจำกัดของเยาวชนในนโยบายเก่าก่อน
หัวข้อต่างๆ ที่ยกตัวอย่างไปนั้น เป็นเวทีสำคัญที่เยาวชนได้เข้าร่วมอภิปราย โดยมีบรรยากาศที่สนุกสนาน เผ็ดร้อน และน่าสนใจคละเคล้ากันไป แต่หากความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตได้เติบโตมาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทางการทหาร ทางการวิจัย ทางธุรกิจ จวบจนถึงการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเยาวชนได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับการออกมาแสดงความคิดเห็นและอธิบายถึงแง่มุมบางอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเรามองข้าม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ถึงแม้ว่าอิสรภาพจะนำมาซึ่งความสร้างสรรค์ แต่ระเบียบสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้หลายชาติยังคงอยู่ได้ เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ว่าจะให้อิสรภาพมากหรือตีกรอบมากก็ไม่สามารถสรุปได้ทันที
ยังคงต้องติดตามต่อในปีหน้า ซึ่งเท่าที่ได้เข้าร่วมตั้งแต่วันแรกจนจบพิธีปิดก็ได้รู้อย่างชัดเจนว่า ในครั้งหน้า IGF 2015 จะจัดที่ประเทศบราซิล แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน แล้วพบกันใหม่ครับ