รมว.วธ.ประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมเอเชีย-ยุโรป เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย พร้อมชูแผน “เชียงใหม่-สุโขทัย-ภูเก็ต” เมืองสร้างสรรค์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 29, 2014 12:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 6 หรือ ASEM CMM6 (ASEM Culture Minister’s Meeting) ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” วันที่ 17-23 ตุลาคมนี้ ณ เมืองรอตเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ว่า ในการร่วมประชุมครั้งนี้ มี สมเด็จพระราชาธิบดี Willem-Alexander เสด็จฯ เป็นประธานเปิดการประชุม และมี Ms.Jet Bussemaker รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 42 ประเทศและมี 2 องค์กร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมประชุม 15 ประเทศ นายวีระ กล่าวต่อว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ของไทย ได้รับเชิญให้นำเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม เพื่อใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ ภูมิปัญญาไทย การใช้ดิจิทัลรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นต้น “ที่สำคัญในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ เมืองสร้างสรรค์นั้น คณะผู้แทนประเทศไทยจะนำเสนอ เรื่องการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ กรณีศึกษา 3 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่-สุโขทัย-ภูเก็ต อย่างกรณี เชียงใหม่ ถือว่าเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สุโขทัย เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่วนภูเก็ต เป็นเมืองแห่งอาหารสร้างสรรค์และหลากหลาย เนื่องจากมีการผสมผสานระหว่างไทย จีน มาเลย์ อินเดียและตะวันตก อย่างไรก็ตามประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเมื่อ 700 ปีก่อน ประเทศไทยส่งออกเครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นการผลิตจากภูมิปัญญา วัฒนธรรมและการสร้างสรรค์รูปแบบ ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์จากสุโขทัยสู่นานาประเทศ จนถึงปัจจุบันสินค้าที่ผลิตจากทุนทางวัฒนธรรมมีบทบาทอย่างมากในการสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาล จนเป็นเอกลักษณ์ที่ประเทศต่างๆ รู้จักและชื่นชอบสินค้าทางวัฒนธรรมของไทย” นายวีระ กล่าว รมว.วธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเห็นคุณค่าของการออกแบบในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ยังมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการผลักดันเรื่องดังกล่าว ซึ่งการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมเอเชีย-ยุโรป เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำทุนทางวัฒนธรรม มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศสมาชิก ASEM เพื่อนำองค์ความรู้และถอดบทเรียนของประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ มาประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ