ความสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือหลากระดับสู่ "ประชาคมแห่งภูมิภาค"

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 1998 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--23 พ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่นนั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ที่เราคุ้นเคยมักจะเป็นเนื้อหาทางด้านเศรษฐกิจและเป็นความสัมพันธ์ระดับภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปไกลมาก ภาคองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้น ประ-กอบกับความสัมพันธ์ที่เคยเป็นแบบผู้ให้ - ผู้รับ ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยเพิ่มด้านที่ญี่ปุ่นกับไทยมีความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศควบคู่ไปด้วย
จากการเปิดเผยของ รศ. สุริชัย หวันแก้ว แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือแบบพหุภาคีด้านวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น เปิดเผยถึงการดำเนินภารกิจการประชุม ASEAN - Japan MuliNational Cultural Mission ซึ่งสรุปผลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีประเทศในอาเซียนรวม 9 ประเทศและญี่ปุ่นเข้าร่วม คณะผู้แทนพหุภาคีวัฒนธรรมอาเซียนกับญี่ปุ่นเป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ป่นริเริ่มขึ้นโดยได้รัรบความเห็นชอบจากฝ่ายอาเซียน เพื่อกระชับความร่วมมือที่นอกเหนือจากมิติของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจโดยให้ความสนใจเน้นหนักใน 4 ด้าน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนด้านภูมิปัญญาและวิชาการการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของกันและกัน หลังจากภารกิจในการเป็นตัวแทนประเทศไทยในโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้วได้มีการประชุมประสานงานกับรัฐบาลไทยและประเมินผลในสิ่งที่ปฏิบัติในข้อตกลงร่วมกัน เช่นในเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพหุภาคี ซึ่งอาจมีการจัดตั้งศูนย์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียนกับญี่ปุ่นในอนาคต
รศ.สุริชัย เผยว่า การดำเนินงานของโครงการคณะผู้แทนพหุภาคีวัฒนธรรมอาเซียนกับญี่ปุ่นนับเป็นก้าวใหม่ในการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ เหล่านี้ให้ลึกซึ้งและยั่งยืน ทั้งๆ ที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียมีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันในหลายด้าน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ และประสบการณ์ในการเปลี่ยนไปเป็นสัสงคมอุตสาหกรรมตลอดจนปัญหาจากการพัฒนาต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาตามแบบตะวันตกทำให้ละเลยรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันไป ที่ผ่านมาก็มิได้เอาใจใส่ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของกันและกันนัก แนวทางพหุภาคีวัฒนธรรมอาเชียน - ญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นมิติใหม่แห่งการจัดวางความสัมพันธ์ที่กระชัยแน่นและยั่งยืนมากขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ