กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เตือนผู้ปกครองช่วงเทศกาลลอยกระทง ให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุ 5-9 ปี
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2557 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งในวันลอยกระทงทุกปี ภัยอันตรายที่ประชาชนตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังอยู่เสมอคือ ภัยจากการจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทงจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นลงไปได้ และเหตุการณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ คือ การมักลงไปเก็บเศษเงินในกระทง ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจากการดื่มสุราและลงเล่นน้ำ จากการวิเคราะห์ข้อมูล ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา(ปี 2547-2557 )พบว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง มีคนจมน้ำมากถึง 436 คน โดยเป็นเด็กถึง 150 คน คิดเป็น 34 % ของคนจมน้ำทั้งหมด และกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 5-9 ปี
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่จะพาบุตรหลานไปลอยกระทงให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หรือยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ ขอบสระ เพราะอาจพลัดตกลงไปในน้ำได้ และสิ่งที่พบเป็นประจำทุกปีคือ จะมีเด็กลงไปเก็บกระทง หรือเก็บเงินในกระทงที่ลอยในน้ำ ผู้ปกครองควรห้าม ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงอย่างเด็ดขาด เพราะเด็กอาจจมน้ำ เนื่องจากเป็นตะคริว เพราะอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและสภาพอากาศหนาวเย็น ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลงน้ำ เนื่องจากจะเสี่ยงเป็นตะคริวได้สูง หรือกรณีที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปนั่งในร้านอาหารด้วย ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง การหันไปทำกิจกรรมต่างๆ เพียงเสี้ยววินาที โดยปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพังไม่ว่าจะเป็นในกะละมัง หรือถังน้ำที่บ้านก็ตาม อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้
ทั้งนี้หากพบคนตกน้ำต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน การช่วยเหลือที่ถูกวิธี ขอให้ยึดหลัก ตะโกน โยน ยื่น โดยเรียกให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วย หรือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมาช่วยเหลือ เช่น ไม้ ถังแกลลอนเปล่า เชือก หรือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยถึงวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 .นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย