กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) ประกาศความร่วมมือจัดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิชาการต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนพัฒนาการทำงานในสายอาชีพ ให้กับนักศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงแขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้มอบทุนการศึกษา 2 ปี ให้กับนักศึกษา 4 ราย ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการเพื่อสังคมขององค์กร ที่ดำเนินการสนับสนุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้ข้อตกลงนี้ หัวเว่ยและคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จะร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน อาทิ การพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับนักศึกษา การจัดทำโครงการฝึกอบรมวิชาชีพภาคฤดูร้อนให้แก่นักศึกษา และบุคลากร รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญจากหัวเว่ยมาบรรยายให้ความรู้ในฐานะอาจารย์พิเศษ ในขณะเดียวกันก็มอบโอกาสให้กับนักศึกษาที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมได้เข้าฝึกงานหรือบรรจุเข้าทำงานในหัวเว่ยอีกด้วย นับเป็นข้อตกลงความร่วมมือครั้งแรกระหว่างหัวเว่ยกับสจล. ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายจากความร่วมมือดังกล่าวระหว่างสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศและองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก
มร. เฉิน รุ่ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับสจล. และได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งมีศักยภาพและความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงวิศวกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งเป็นแขนงวิชาที่ทางหัวเว่ยให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ พนักงานในบริษัทรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเราในประเทศไทยจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษามาจากสถาบันแห่งนี้ เราตระหนักดีถึงศักยภาพของนักศึกษาที่สำเร็จจากสถาบันนี้และมั่นใจว่าด้วยความเชี่ยวชาญและความรู้ทางด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าต่าง ๆ ที่หัวเว่ยสั่งสมมานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เป็นหนึ่งในปัจจัยของโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย"
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่างหัวเว่ยและ สจล. นับเป็นการริเริ่มความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในกิจกรรมของหัวเว่ยทั่วโลก ภายใต้โครงการ "บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคต" (Telecom Seeds for the Future) จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งหัวเว่ย ประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ มากมาย และจัดหาผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ยทำหน้าที่ผู้บรรยายพิเศษให้กับสถาบันการศึกษาชั้นนำมากมายในประเทศไทย รวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพให้กับนักศึกษาไทยกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้มอบโอกาสในการฝึกและทดลองงานให้กับนักศึกษาในสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวนประมาณ 100 คน สำหรับในปีนี้ บริษัทได้เตรียมจัดทัศนศึกษาพิเศษไปยังสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับนักศึกษา 10 คน ผู้ฝึกสอน 2 คน และผู้ชำนาญการจากภาครัฐอีก 10 คน เดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย - จีน เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทาง
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ล้ำหน้า เพื่อให้ผู้ที่ได้รับทุนนำประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับไปต่อยอดและพัฒนาประเทศไทยต่อไป
ภายในปี 2558 หัวเว่ยเตรียมการที่จะขยายความร่วมมืออย่างเป็นทางการในด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย 10 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนทางด้านการศึกษา และความมุ่งมั่นในการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมตอบแทนกลับคืนสู่สังคมไทย
ผศ. ดร. คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง กล่าวว่า "สจล. รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับหัวเว่ย เรามั่นใจว่านอกเหนือจากประโยชน์ที่นักศึกษาและคณะจะได้รับแล้วนั้น เรายังเพิ่มพูนประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้ จากการส่งต่อความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับจากหัวเว่ยไปสู่สังคมไทย ทั้งนี้ สจล. และคณะวิศวกรรมศาสตร์จะครบรอบ 55 ปีในปีหน้า โดยมุ่งมั่นทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่มีคุณภาพมากมายนำความรู้ไปพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่หยุดยั้งที่จะมองหาโอกาสต่าง ๆ เพื่อนำมาเสริมประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของเรา จากความร่วมมือกับหัวเว่ยในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการเข้าถึงเทคโลยีระดับโลก ได้รับความรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพในอุตสาหกรรม รวมถึงได้รับโอกาสเข้าไปฝึกงานที่หัวเว่ยทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริงในองค์กรชั้นนำของโลก ซึ่งประโยชน์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้กับนักศึกษาของเรา”
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมอบทุนการศึกษาพิเศษระยะเวลา 2 ปี จำนวน 4 ทุนให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม โดยผู้รับทุนการศึกษายังได้รับโอกาสเข้าร่วมในโครงการฝึกงานที่หัวเว่ย และบรรจุเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา สำหรับทุนการศึกษานี้จะมอบให้กับผู้ที่มีผลการเรียนดี รวมถึงผู้ที่ต้องการขอทุนสนับสนุนด้านการศึกษา โดยมีคณะกรรมการจากหัวเว่ยประเทศไทยและคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้พิจารณาตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย
"หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในระยะยาว และพร้อมให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของเรา และภายใน 5 ปีข้างหน้า เรามีแผนที่จะขยายโครงการ "บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคต" ไปยังยังสถาบันการศึกษากว่า 20 สถาบัน โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 รวมถึงโครงการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษากว่า 300 คน พร้อมมอบโอกาสพิเศษในโครงการทัศนศึกษาที่สำนักงานใหญ่ในประเทศจีนให้กับนักศึกษาอีกกว่า 100 คนด้วย ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เรามั่นใจว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาความรู้และทักษะให้กับทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ สามารถรับมือกับตลาดสากลที่มีการแข่งขันกันสูงในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการประกาศให้ทุกคนได้รับทราบถึงความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่นของหัวเว่ย จึงนับว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง และ เรามุ่งมั่นที่จะให้เกิดความร่วมมือเช่นนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไปในอนาคต" มร. เฉิน กล่าวสรุป