กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ระบุ สมาชิก WTO ยังไม่สามารถมีฉันทามติเพื่อให้การรับรองผลการเจรจาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้ เนื่องจากอินเดียยังไม่ยอมให้สัตยาบัน โดยเรียกร้องให้มีการเจรจาเรื่องการเก็บสต็อคโดยรัฐด้านความมั่นคงอาหารก่อน จึงจะให้การรับรอง พร้อมเกาะติดสถานการณ์ความคืบหน้าที่อาจกระทบต่อราคาตลาดโลก
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 9 เมื่อปลายปี 2556 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย สมาชิก WTO ได้บรรลุข้อตกลงหรือที่เรียกว่า “บาหลีแพ็คเกจ” หลายประเด็นด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ข้อตกลงเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการศุลกากรของประเทศสมาชิกให้รวดเร็ว ลดขั้นตอน และโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งประเทศสมาชิกทั้งหมด 160 ประเทศจะต้องให้สัตยาบันภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อจะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการในปี 2558 อย่างไรก็ตาม อินเดียได้คัดค้านข้อตกลงดังกล่าว โดยตั้งข้อเรียกร้องว่า ประเทศสมาชิกจะต้องเจรจาและร่วมกันกำหนดกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนสำหรับมาตรการถาวรภายใต้มาตรการเก็บสต็อคโดยรัฐเพื่อความมั่นคงอาหารเสียก่อน อินเดียจึงจะให้การรับรอง TFA ดังกล่าว
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องดังกล่าว หากการเปิดให้มีการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารหลัก เช่น ข้าว อาจกระทบการส่งออกของไทยไปยังประเทศผู้นำเข้าที่ใช้ข้ออ้างนี้ และหากมีการระบายสินค้าส่วนเกินออกสู่ตลาดโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดโลก รวมทั้งประเทศไทย จากการโดนแย่งตลาดจากประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่ง สศก. จะติดตามความคืบหน้าของเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ บาหลีแพ็คเกจได้กำหนดให้การอุดหนุนภายในภายใต้การเก็บสต็อคอาหารที่เป็นอาหารหลักโดยรัฐ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เป็นมาตรการชั่วคราวที่สามารถทำได้เกินกว่าข้อผูกพันเรื่องการอุดหนุนภายในของความตกลงเกษตรปัจจุบัน และให้มีประเทศสมาชิกเจรจาเพื่อให้เป็นมาตรการถาวรใน 4 ปี หรือในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 11 ในปี 2560