กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรีนพีซสากลเปิดเผยรายงานการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม (Marker Assisted Selection หรือ MAS) หรือการปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาลักษณะของพันธุ์พืชที่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อโรคไปจนถึงสามารถปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคัดเลือกพันธุ์ด้วยการใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรมดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช และเป็นวิธีที่เกษตรกรในหลายประเทศได้เริ่มใช้แล้ว
ดร.แจเน็ต คอตเตอร์ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ กรีนพีซสากล กล่าวว่า
“MAS คือ นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่มองถึงอนาคตแต่ได้สร้างประสิทธิผลต่อเกษตรกรแล้วในวันนี้ โดยช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆในการเกษตร นี่คือเทคโนโลยีที่สามารถลดช่องว่างระหว่างความรู้ของเกษตรกรและวิธีการของนักวิทยาศาสตร์ และสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาเกษตรกร”
รายงานของกรีนพีซ “การปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด” แสดงถึงคุณลักษณะและการเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยี MAS ในพืชพันธุ์หลากชนิดในหลายทวีป ซึ่งกรณีศีกษานี้รวมถึง
- การจัดการกับแรงกดดันทางชีวภาพ เช่น ไวรัส รา แบคทีเรีย วัชพืช และแมลง
- การจัดการกับแรงกดดันทางกายภาพและเคมี เช่น ภัยแล้ง ดินเค็ม หรือน้ำท่วม
- การสร้างความเข้มข้นของแร่ธาตุในพืช
- การได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง
ปัจจุบัน MAS ถูกนำไปใช้โดยเกษตรกรในประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เพื่อที่จะจัดการกับโรคใบไหม้ในต้นข้าว (bacterial leaf blight) ในประเทศไนจีเรียและแทนซาเนีย มีการพัฒนาเพื่อทำให้มันสำปะหลังต้านทานไวรัสโมเสคแอฟริกัน และในอเมริกาเหนือถูกใช้เพื่อสร้างความทานทานเชื้อราในข้าวสาลี
"เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการปรับปรุงพันธุ์พืช (MAS) กับพันธุวิศวกรรม (GE) พันธุวิศวกรรมเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยว่า ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีข้าวสีทองซึ่งเป็นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม แม้ว่าจะผ่านมากว่า 20 ปี โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพราะให้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ(1)” ดร.แจเน็ต กล่าวเสริม
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาล บรรษัท และผู้ที่มีความตระหนักด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ลงทุนในการสนับสนุนการเกษตรเชิงนิเวศมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีอย่างการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม (MAS) ที่จะช่วยยกระดับเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้ประชาชนได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ภายใต้ภาวะการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หมายเหตุ
(1) http://irri.org/golden-rice/faqs/what-is-the-status-of-the-golden-rice-project-coordinated-by-irri
(2) รายงาน “การปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด” (ภาษาอังกฤษ) http://www.greenpeace.org/smartbreeding2014/
(3) รายงานฉบับย่อ “การปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด”(ภาษาไทย) http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/smart-breeding-summary-thai/
(4) ในการประชุมข้าวนานาชาติ (International Rice Congress) วันที่ 28 -31 ตุลาคม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดนิทรรศการนำเสนอทางออกเกษตรกรรมยั่งยืน และการคัดเลือกพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บูธ B3/1