กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
เด็กและเยาวชนก็เหมือนเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าที่ต้องการความรักการดูแลเอาใจใส่ จากครอบครัวและสังคม เพื่อที่จะเติบโตอย่างงดงามเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันหน้า ซึ่งที่ผ่านมา สังคมไทย ก็มีบทเรียนจำนวนไม่น้อยที่พิสูจน์แล้วว่า การบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นคนเก่งแต่เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการขัดเกลาด้านจิตใจ ไม่สามารถสร้างชีวิตที่เป็นสุขและมอบความสงบสุขแก่สังคมได้อย่างแท้จริง
ความคิดนี้ก่อให้เกิดรวมตัวครั้งใหญ่ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ในโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทยปี 3 ที่ดำเนินมาถึงรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันก่อน ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี ให้เกียรติมอบรางวัลและโอวาท รวมถึงบุคคลสำคัญมากมายร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโครงการจิตอาสาต้นแบบเปลี่ยนประเทศ ประจำปี พ.ศ 2557 ที่สามารถปลุกพลังและสร้างกระแส ‘Active Heart…Active Mind…Active Citizen’ เกิดเป็นพลเมือง สายพันธุ์ใหม่ที่หัวใจรู้จักการให้และเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ภายใต้แนวคิด Gen A (Generation Active) “รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา” ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
สุภาวดี ถิระพานิช ที่ปรึกษาด้านภาคีสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ที่เกิดจากพลังความร่วมมือขององค์กรภาคีหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย และบริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด โดยปีนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ทีม จากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งนี้ สสส. เชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยปลูกจิตสำนึก พร้อมทั้งกระตุ้นเด็กและเยาวชนให้เกิดความกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชนของตนเอง อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่พลเมืองทุกคนมีความรู้รับผิดชอบในหน้าที่ของตนและสำนึกสาธารณะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า ภายใต้โจทย์หลัก “พลังจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” เยาวชนคน Gen A ที่ผ่านการคัดเลือกมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศทั้ง 12 ทีม จาก 33 ทีมในรอบแรก ได้แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจผ่านรูปแบบโครงการจิตอาสาที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยทุกทีมได้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรพิเศษของบ้านความดีรวมเป็นเวลา 3 วัน และใช้เวลา 2 เดือนที่ผ่านมาในการลงพื้นที่จริงเพื่อดำเนินโครงการจิตอาสาของตนให้สำเร็จลุล่วง ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้มานำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทุกทีมต่างก็ได้รับประสบการณ์ทำงานที่ล้ำค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
สำหรับสุดยอดโครงการจิตอาสาต้นแบบประจำปี 2557 ได้แก่ โครงการ “หนังสั้นจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ผลงานสร้างสรรค์จากทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำทีมโดยนาย ณภัทร ตั้งสง่า ซึ่งหนังสั้นเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของชาวบ้านชุมชนศาลาแดงเหนือที่ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนชาวมอญ พร้อมสะท้อนถึงปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของผู้สูงอายุและเยาวชนเกี่ยวกับมุมมองการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเด็กวัยรุ่นตามเนื้อเรื่องได้ใช้พลังของโซเชียลมีเดียเชื่อมโยง
จิตอาสาในชุมชนจนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้ปลุกพลังจิตอาสาและสะเทือนอารมณ์ของผู้ที่ได้รับชมจนสามารถพิชิตใจคณะกรรมการ และได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 100,000 บาทไปครอง
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของโครงการสืบบวร “สาน” ภูมิปัญญาวัฒนธรรม โรงเรียนบ้านดงยาง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการรวมพลังจิตอาสาของเด็กๆ ชั้นประถมและมัธยมที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมแก้ไขปัญหาชุมชนและโรงเรียนอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน โดยบูรณาการสถาบันสำคัญ 3 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและคนในท้องถิ่น มีระเบียบวินัย เป็นแบบอย่างที่ดี มีจิตสาธารณะ เปี่ยมด้วยซื่อสัตย์และมีคุณธรรม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการ WE GEN WE SHARED มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ที่ “ปลุกพลังจิตอาสา กับสิ่งที่มีค่าในชุมชน” เปลี่ยนมันแกวธรรมดาซึ่งเป็นของขึ้นชื่อในท้องถิ่นให้กลายเป็นเพชรน้ำงาม ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์พร้อมหาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในชุมชน มีการวางแผนการสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการโดยใช้มันแกว ผลไม้ที่ขึ้นชื่อประจำอำเภอบรบือ มาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสายใยแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชน ชุมชน โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้จากการแปรรูปมันแกวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ กะหรี่ปั๊ปมันแกว และทับทิมกรอบมันแกว นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและชาวบ้านในอำเภอบรบือได้ตระหนักถึงคุณค่าของมันแกวที่มีอยู่ในชุมชนอย่างยั่งยืน
รางวัลชมเชย 5 รางวัล ได้แก่ โครงการพี่บุญธรรม เชื่อมสัมพันธ์บ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โครงการนิทานสานฝันสู่ชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา จ. สงขลา โครงการรักษ์แผนไทย หัวใจอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จ.สกลนคร โครงการ Melody of Hearts มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ.กรุงเทพฯ และโครงการ TAXI NEW GEN มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จ.กรุงเทพฯ ได้รับโล่รางวัลโครงการ และทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท
รางวัล Gen A Spirit อีก 4 รางวัล ประกอบด้วยโครงการสื่อสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พัฒนาจากคนที่มีหัวใจพิเศษ บูรณาการสืบสานภูมิปัญญาในท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนแพร่ จ.แพร่ โครงการเรียนรู้คู่คุณธรรม สู่ศตวรรษที่ 21 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช โครงการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา และโครงการนักสืบธรรมชาติ สร้างสรรค์นวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ รับมอบใบประกาศเกียรติคุณ
ถึงแม้จะมีทีมที่พลาดหวังไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่น้องๆ ทุกทีมต่างยืนยันอย่างหนักแน่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่หมดกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่นและชุมชนของตนเอง เพราะเชื่อมั่นว่าพลังจิตอาสาเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศนี้ให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
สิทธิ วัฒนายากร โทรศัพท์ 0-2610-2384